พัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาช่วยผู้ป่วยเสพติด
ที่มา: กรมการแพทย์
แฟ้มภาพ
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ พัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพยาและสารเสพติดที่มีภาวะการทำงานของกระบวนการคิดบกพร่องมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี มีภารกิจหลักในด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด โดยได้รับการบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ปี 2560 มีผู้ป่วยทั้งหมด 5,589 คน เป็นเพศชาย 4,746 คน คิดเป็นร้อยละ 84.92 และเพศหญิง 843 คน คิดเป็นร้อยละ 15.08 โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 17.80 รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 17.28 และช่วงอายุระหว่าง 30-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 15.10 ตามลำดับ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ว่างงาน ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือยาบ้า และสุรา สำหรับสาเหตุที่เสพยาเสพติดมากที่สุดคือเพื่อนชวนและอยากทดลองเสพยา
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ให้บริการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดทุกประเภท ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้ป่วยยาและสารเสพติดมีภาวะการทำงานของกระบวนการคิดบกพร่อง เนื่องจากยาและสารเสพติดไปทำลายสมอง ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยติดสุราและสารระเหย นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มผู้ป่วยเสพติดยาบ้า/ไอซ์ ทำให้ผู้ป่วยมีการเรียนรู้ช้า หลงลืมง่าย บางรายเดินหลงทางไม่สามารถกลับห้องพักได้ การสื่อสารความคิดช้า การตัดสินใจไม่ดี ขาดสมาธิ และมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเสพติดซ้ำได้มาก สถาบันฯ จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดให้มีหอผู้ป่วยที่ให้การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะจัดกิจกรรมบำบัดที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สร้างกิจกรรมที่พัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดและความจำ ซึ่งจากผลการดำเนินงานพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีการพัฒนากระบวนการคิดดีขึ้นจนถึงระดับปกติ
ร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังทำให้ครอบครัวเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวและสังคมได้ดังเดิม ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือ ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลาและปัตตานี