พัฒนาระบบ-ฟื้นฟูคนพิการอย่างยั่งยืน
กรมการแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน เน้นพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หวังให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเอง กลับเข้าสู่สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แฟ้มภาพ
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2555 พบว่าประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ 2.2 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งพบว่าคนพิการส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุมากกว่า 70 ปี และอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ในปี 2555 ได้มีการสำรวจข้อมูลของคนพิการ พบว่าคนพิการส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการดูแลตนเองในการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การขับถ่าย การอาบน้ำการแต่งตัว การล้างหน้าแปรงฟัน และการกินอาหาร
มีคนพิการเพียงร้อยละ 28.6 ที่ใช้อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมหรือเครื่อช่วยคนพิการ นอกจากนี้ยังพบว่าคนพิการ จำนวนร้อยละ 22.4 ไม่ได้รับการศึกษา และร้อยละ 60 ของคนพิการไม่มีงานทำ จากข้อมูลดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบบริการคนพิการอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเอง กลับเข้าสู่สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้จัดทำ 'โครงการพัฒนาระบบการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน' (Community Based Rehabilitation : CBR) มีเป้าหมายหลัก ให้เกิดการฟื้นฟูคนพิการในชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน โดยการพัฒนาระบบบริหารจัดการ สร้างและขยายพื้นที่เครือข่ายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนมีส่วนร่วม อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
โดยมีการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เช่น การฝึกอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา การประชุมวิชาการ การนิเทศเฉพาะกิจเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน เน้นให้ชุมชนและเครือข่ายมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักในการดูแลคนพิการประเภทต่างๆ ตามแนวทางของ “คู่มือการฝึกคนพิการในชุมชนขององค์การอนามัยโลก” เพื่อให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนพิการในการช่วยเหลือตนเอง ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนพิการในชุมชน ช่วยลดความยากจน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การศึกษา การทำงานเลี้ยงชีพ และเพิ่มโอกาสทางสังคม
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2553-2554 เน้นการเพิ่มศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ ปี 2555-2557 เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรที่ทำงานฟื้นฟูในพื้นที่ และในปี 2558-2560 มีชุมชนนำร่องที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
และมีแผนที่จะการดำเนินการในชุมชนอื่นๆ ต่อไป ผลของการดำเนินโครงการทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันในรูปแบบเครือข่ายที่ชัดเจน มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ทุกหน่วยงานสามารถเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และสามารถหาแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่เหมาะสมกับบริบทในชุมชนต่อไป
ที่มา : กรมการแพทย์