พัฒนาระบบ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ทุกวันนี้ หลายคนคงจะแปลกใจและหวั่นวิตกว่า ทำไม จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากดูข้อมูลเฉพาะแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ พบว่ามีประชากรที่เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงถึง 7.9 ล้านคน โดยที่ร้อยละ 34 ของผู้เสียชีวิตอายุไม่ถึง 60 ปีด้วยซ้ำ
ดังนั้นการจะสร้างสังคมคุณภาพย่อมพบกับอุปสรรคในความสำเร็จอย่างแน่นอน หากในแต่ละประเทศมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณของแผ่นดินไปอย่างมากมายต่อการนำไปเพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย
ด้วยเหตุนี้ การป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญในการทำงาน
ของ “นักสร้างเสริมสุขภาพ” ทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่จะยกระดับให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าแล้ว ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขในประเทศของตนเองลงได้อย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระของรัฐด้วยการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า
สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องให้เป็น 1 ใน 9 ประเทศ ที่มีองค์กรการสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ โดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับการชื่นชมว่ามีระบบการจัดสรรงบประมาณจากการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่นานาประเทศได้ โดยองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ (World Health Organization, South-East Asia Region Office: WHO-SEARO) ได้ลงนามความร่วมมือ
กับ สสส. ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นแม่แบบนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคนี้ ระหว่างปี 2558-2560
ในการนี้ สสส. และ WHO-SEARO จึงได้เดินหน้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 1 ให้แก่ 7 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย พม่า อินโดนีเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ศรีลังกา และติมอร์ เลสเต โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานการอบรม
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งของการเปิดการอบรมว่า “การจัดตั้งกองทุน สสส. ประเทศไทยสามารถให้ตัวอย่างในการถ่ายทอดความรู้ที่มี 15 ปี แก่เพื่อนสมาชิกได้ เพราะหลายๆ ประเทศก็มีการจัดตั้งองค์กรที่มีความใกล้เคียงกับ สสส. อยู่เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะยังทำได้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังนั้น เวทีนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศต่างๆ ที่มาเข้าร่วมประชุม เนื่องจากงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ไม่ได้มีแค่เรื่องเหล้าหรือบุหรี่ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างสังคมที่ดีด้วย”
ดร.สุวจี กู๊ด ผู้ประสานงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ไว้เช่นกันว่า แม้จะมีรายงานมากมายที่เล่าถึงการประสบความสำเร็จของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันยังคงมีประชากรกว่า 130 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ที่เข้าไม่ถึงระบบการให้บริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างสังคมคุณภาพในอนาคต โดยกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการให้บริการสุขภาพพื้นฐาน คือนัยสำคัญของความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในระบบประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ
"ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน จึงต้องมองว่า “การส่งเสริมสุขภาพ”ไม่ใช่ “โครงการ” แต่เป็น “ระบบ” ต้องมองทั้งระบบของการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะที่ตัวบุคคล ชุมชน นโยบายสาธารณะ กลไกทางการเงิน การสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อทำงานส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการปรับทัศนคติ และการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ปฏิบัติ เช่น จะทำอย่างไรให้ทางสายการแพทย์ มองเรื่องการส่งเสริมสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการ โดยไม่จำกัดอยู่ที่การป้องกันโรค แต่มองว่าเป็นการสร้างสภาวะทางสุขภาพจริงๆ ซึ่งประเทศไทย ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ทำมาได้เยอะแล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมรอยต่อตรงนี้ให้สนิทได้ ดังนั้น ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ทั้งการดำเนินงานทางนโยบาย เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมถึงปัจจัยในเรื่องขององค์ความรู้ทางสุขภาพต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล สังคม หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ จึงต้องกำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีระเบียบ พร้อมที่จะจัดการกับปัญหาและเอื้อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีได้อย่างแท้จริง" ดร.สุวจี กล่าว
และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะได้แสดงศักยภาพการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานให้นานาประเทศได้ร่วมเรียนรู้และก้าวไปพร้อมกัน