พัฒนานโยบายเลิกเหล้า เข้าสู่โรงงานสีขาว

หลังพบแรงงานไทยสังเวยน้ำเมากว่า 4 หมื่นคน

 

 ก.แรงงาน-มูลนิธิเพื่อนหญิง-เครือข่ายองค์กรงดเหล้า-สสส. ผนึกพลังครั้งใหญ่  พัฒนานโยบายเลิกเหล้าเข้าสู่โรงงานสีขาว สกัดแรงงานไทยตายก่อนวัยอันควร เผย 80% คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เจ็บ ไม่ลา ไม่ขาด แถมมีเงินเก็บ ขณะที่นักวิจัยชี้ ตัวเลขยังน่าห่วง พบวัยแรงงานสังเวยชีวิตด้วยน้ำเมา 4 หมื่นคน กระทบเศรษฐกิจ แสนห้าหมื่นกว่าล. แนะรัฐบาลเข้มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่วนผู้ประกอบการต้องย้ำพนักงาน ห้ามซดเหล้าก่อนและขณะทำงาน

 

พัฒนานโยบายเลิกเหล้า เข้าสู่โรงงานสีขาว

              เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา พัฒนานโยบาย ลด ละ เลิก เหล้าเข้าสู่โรงงานสีขาวโดยนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า กระทรวงแรงงานพร้อมผลักดันให้โรงงานทุกแห่งที่อยู่ในโครงการปลอดยาเสพติดกว่า 30,000 โรงงาน เป็นโรงงานปลอดแอลกอฮอล์ด้วย เพราะหากกลุ่มแรงงานต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้หมดโอกาสสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ อุบัติเหตุจากการดื่ม สถานประกอบการสูญเสียรายได้  สูญเสียบุคลากร และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

 

          ผศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า จากการศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ปี 2549 พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 156,105 ล้านบาท หรือ 1.99% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือประมาณ 2,391 บาทต่อคน นอกจากนี้สถิติกลุ่มแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะดื่มแอลกอฮอล์มีมากถึง 40,000 คน ส่วนใหญ่อายุ 30-44 ปี รองลงมา 15-29 ปี  ซึ่งผู้ที่ดื่มหรือเคยดื่มจะขาดงาน เพราะปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพขณะทำงานลดลงกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 1.7- 5.7% ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญต่อนโยบายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น แม้จะมีการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ควรมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งการควบคุม การจำหน่าย เงื่อนไขของเวลา สถานที่ และการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ ทั้งนี้ นายจ้างรวมถึงผู้ประกอบการควรให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ให้ลูกจ้างได้รับทราบ และเข้มงวดไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะทำงาน หรือก่อนการปฏิบัติงาน

 

พัฒนานโยบายเลิกเหล้า เข้าสู่โรงงานสีขาว

            ศ.นพ.อุดมศิลป์   ศรีแสงงาม  ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า โครงการโรงงาน ลด ละ เลิกเหล้า จำเป็นต้องผลักดันสู่นโยบายโรงงานสีขาวของกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกันปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มแรงงาน ไม่ส่งผลให้ต้องขาดงาน หรือลางาน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ที่มักเกิดอุบัติเหตุ ทำให้พิการและเสียชีวิต ทั้งนี้สำหรับนโยบายโรงงานสีขาวที่วางแผนร่วมกัน มี 2 ระดับ คือ 1.ระดับโรงงาน ซึ่งโรงงานต้องพัฒนาให้เป็นต้นแบบในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเป็นโรงงานสีขาวที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2.ระดับนโยบายกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานต้องมีนโยบายโรงงานสีขาวให้ครอบคลุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานสีขาวด้วย

 

          นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการพัฒนาโครงการโรงงาน ลด ละ เลิกเหล้า ของมูลนิธิเพื่อนหญิงและองค์กรเครือข่ายงดเหล้า และสสส. ซึ่งมีโรงงานต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 โรงงาน ทั่วประเทศ พบว่า 20 โรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ 1.สุขภาพของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องลางาน ขาดงาน 2.เศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น คนงานที่เลิกเหล้ามีเงินออมกว่า 50%  3.โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ 80% ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.คนงานที่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ไม่พบสถิติการเสียชีวิต และ 5.ความรุนแรงในครอบครัวลดลง โดยเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้หากโรงงานใดสนใจเข้าร่วมโครงการ โรงงาน ลด ละ เลิกเหล้าสามารถสอบถามได้ที่มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร.02-5131001

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update 03-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code