พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


ใช้ ‘หนังสือนิทาน’  พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย ปลูกฝังทักษะสมอง 3 กลุ่ม คือทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตนเอง และทักษะปฏิบัติ


บรรยากาศคึกคักทันที!! เมื่อสิ้นเสียงของวิทยากรที่บอกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 200 คนให้ลืมตาขึ้น และทันทีที่สบตาคนใกล้ตัวขอให้แนะนำตัวเองด้วยเสียงที่บ่งบอกถึงอายุที่เจ้าตัวย้อนเวลากลับไป เรียกเสียงหัวเราะเฮฮา ปะปนกับการดัดเสียงเป็นเสียงเล็กเสียงน้อยอย่างสนุกสนาน ช่วงเวลาร่วม 3 ชั่วโมงมีการจำลองสถานการณ์ให้วาดภาพ ขยำกระดาษ เล่นเกม จินตนาการเสมือนเป็นเด็กเล็ก ควบคู่ไปกับการสอดแทรกเทคนิคการเล่านิทาน การจัดกิจกรรมระหว่างการเล่านิทาน ให้นำไปใช้ทำแผนการจัดกิจกรรมเสริมการพัฒนาทักษะทางสมอง Executive Functions หรือ EF แก่ผู้เรียน..


กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการ "การใช้หนังสือนิทานเพื่อการส่งเสริมทักษะ EF" ของงานประชุมวิชาการ "EF SYMPOSIUM 2016 ปลูกฝังทักษะสมอง บ่มเพาะเด็กไทยยุค 4.0" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย Thailand EP Partnership  จัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อน ขยายผลองค์ความรู้ EF ที่ประกอบด้วยทักษะสำคัญ 3 กลุ่มใหญ่ คือ ทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตนเอง และทักษะปฏิบัติ ที่ช่วยสร้างทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการชีวิตไปสู่เป้าหมายทั้งการคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และหาความสุขเป็น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นของคนไทยในยุค 4.0 ที่ทั่วโลกต้องการ กลุ่มแรงงานต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคไอที แต่สำหรับเด็กและเยาวชนคือการเรียนรู้ที่จะปรับตัว เช่นนี้จำเป็นต้องเร่งบ่มเพาะและวางรากฐานให้แก่เด็กอย่างเข้มแข็ง


พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย thaihealth


พลังที่ไม่สามารถทดลองได้แต่มีอยู่จริง คือ ความฝันและจินตนาการ โดย อ.ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลช้างเผือก และกรรมการสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์ค วิทยากรคนสำคัญ อธิบายว่า หนังสือนิทานสามารถสร้างเด็กได้มากมาย มีเรื่องราวให้เด็กได้คิดจินตนาการ เปรียบเสมือนครูหนึ่งคนในห้องเรียนที่ทุกโรงเรียนต้องมี เด็กต้องได้อ่าน ซึ่งมีงานวิจัยชี้ชัดว่าการจะสร้าง EF ให้แก่เด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี หรือปฐมวัย ดังนั้นนิทานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของครูในการช่วยพัฒนาและสร้างเสริมทักษะ EF ของเด็ก ก่อเกิดความงอกงามของภาษา ก่อเกิดทักษะต่างๆ รวมถึงปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติการในการมองโลก ทั้งยังสามารถกำหนดอนาคตและทิศทางของเด็กได้ด้วยว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด


อ.ภูวฤทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกนิทานเพื่อพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัยควรเป็นเรื่องราวใกล้ตัวเด็ก ไม่ห่างไกลเกินไป เนื้อหาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันไม่ตัดเป็นท่อนๆ โดยกลุ่มแรกเกิด-3 ปี นิทานควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง อาทิ เรื่องของอารมณ์ ความโกรธ งอน เสียใจ เป็นต้น ส่วนอายุ 3-6 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับสัมพันธภาพทั้งกับพ่อแม่ เพื่อน สิ่งแวดล้อม สังคม เพราะเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้โลกมุมใหม่ๆ มากขึ้น สำคัญก็คือครูผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจในกระบวนการ EF มีการจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ เหมาะสม ไม่ปิดกั้นความคิด มีการตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กได้ตอบตามความคิดและจินตนาการ คำตอบของเด็กจะไม่มีถูก-ผิด ขณะเดียวครูจะต้องสอดแทรกทักษะ EF ที่อยู่ในนิทานแต่ละเรื่องให้เด็กด้วย ตรงนี้จะช่วยกระตุ้นให้ทักษะ EF ของเด็กได้รับการพัฒนา


พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย thaihealth


"นิทานจะพัฒนา EF เด็กได้ประสบความสำเร็จเท่าใดนั้นอยู่กับคนเล่าเรื่อง คนนำกิจกรรมต้องเข้าใจ EF ที่สอดแทรกอยู่ในนิทาน บางทีนิทานดีแต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะคนนำกิจกรรมยังไม่แตกในเนื้อหา รวมถึงการเขียนแผน เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่หรือครูเล่านิทานให้เด็กฟังและทำกิจกรรมต้องศึกษานิทานเรื่องนั้นๆ ก่อน ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการสร้าง EF คือ การแก้ปัญหาที่รุนแรง อาทิ การลงโทษด้วยการตี หรือว่ากล่าวรุนแรง ความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความกลัว อย่างไรก็ตามการใช้นิทานพัฒนา EF เด็กได้ได้สำเร็จต้องเริ่มจากพ่อแม่และครูต้องเปิดใจและปรับตัวเอง ครูต้องไม่ยึดติดการสอนเดิมๆ แต่ต้องใช้กิจกรรมเป็นฐานเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม ฝึกตั้งโจทย์ แก้ไข ครูต้องเชื่อว่าวิชาการไม่ได้มีแค่อ่านออกเขียนได้ แต่ยังมีทักษะชีวิตในเชิงวิชาการที่เด็กต้องพัฒนาด้วย" อ.ภูวฤทธิ์ให้คำแนะนำ


ขณะที่ นายทองย่อม สาครสูงเนิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอิตื้อดอนหวายขมิ้น จ.มหาสารคาม ผู้บริหารหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้ บอกว่า ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนคิดว่าการเรียนรู้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ถ้าเรารู้และทำได้ก็จะได้ไปถ่ายทอดต่อได้ จึงได้มาร่วมกิจกรรมนี้เพื่อจะรู้ว่ากิจกรรมใดที่โรงเรียนทำอยู่อันดีแล้ว อันไหนต้องปรับปรุงแก้ไข และอะไรที่ควรเพิ่มเติม อย่างการใช้นิทานเพื่อสร้าง EF เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยพัฒนาทักษะสมองของเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สำคัญมาก ตั้งใจว่ากลับไปจะนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับครูที่โรงเรียนตนเอง โรงเรียนอื่นๆ ใกล้เคียง รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนด้วย


พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย thaihealth


เช่นเดียวกับ น.ส.พิมพ์พินันต์ พิจจักโน จากศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ต.หนองหอย จ.เชียงใหม่ บอกว่า ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้นี้กลับไปพูดคุยกับคณะทำงานเพื่อออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กในชุมชน เพราะอุปกรณ์ที่ใช้แค่สิ่งเล็กๆ อย่างนิทานแต่มีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด-6 ขวบเป็นช่วงวัยที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนี้ก็จะไปสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่ของเด็กๆ ในการใช้สื่อนิทานเพื่อพัฒนาลูกๆ ของเขาด้วย


โลกยุค 4.0 ทักษะสำคัญไม่ใช่เรื่องของการอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณ หรือการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นยุคที่มีความซับซ้อน รวดเร็ว รุนแรง และคาดการณ์ยาก ซึ่งการพัฒนาทักษะ EF ให้เข้มแข็งแต่เด็กจะเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานให้เด็กไทยรุ่นใหม่เติบโต มีคุณลักษณะพึงประสงค์ ปรับตัวได้ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและไปสู่ความสำเร็จได้อย่างที่ต้องการ

Shares:
QR Code :
QR Code