พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านแม่ข่า จ.เชียงใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การก้าวย่างสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของไทย ทำให้หลายพื้นที่เกิดการตื่นตัว เพื่อตั้งรับอย่างมีประสิทธิภาพและรู้เท่าทัน
ซึ่งองค์กรผู้สูงอายุตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเตรียมพร้อม ขับเคลื่อนจากระดับหมู่บ้านสู่ระดับตำบล จนเกิดศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น รพ.สต.แม่ข่า, กศน.แม่ข่า, เทศบาลตำบลแม่ข่า และคณะสงฆ์
โดยพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ข่า มีประชากรทั้งหมด 7,635 คน จำนวนนี้เป็น ผู้สูงอายุ 1,323 คน และเมื่อ 13 หมู่บ้าน ตั้งชมรมผู้สูงอายุของตนเองแล้ว ประธานชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านร่วมประชุมกันวางแผน และจัดกิจกรรมของผู้สูงอายุในระดับตำบล แต่พบว่ามีปัญหาด้านงบประมาณในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเข้าประชุมหารือร่วมกับทางเทศบาลตำบลแม่ข่า ที่กำหนดไว้ 3 เดือนต่อครั้ง
จึงได้รับคำแนะนำให้ระดมทุนภายในคนละ 100 บาท พร้อมจัดเวทีประชาคมทุกหมู่บ้าน ลงมติรับรองตั้งเป็นกองทุนจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ในนาม "องค์กรผู้สูงอายุตำบลแม่ข่า" เพื่อให้ขอรับทุนสนับสนุนจากท้องถิ่น และองค์กรต่าง ๆ ได้ โดยมีสมาชิกครั้งแรก 1,211 คน
วิชัย อินตาโน ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า เปิดเผยว่า การร่างระเบียบองค์กรผู้สูงอายุ เน้นเรื่องส่งเสริมสุขภาพ สวัสดิการ การส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น และอาศัยแหล่งทุนในตำบลเป็นกลไกในการขับเคลื่อน กระทั่งต่อมาทางเทศบาลตำบลแม่ข่าเข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้รับงบประมาณมาต่อยอดองค์กรผู้สูงอายุ เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจในรูปแบบฐานเรียนรู้ในชุมชน จำนวน 10 ฐาน และหนุนเสริมศักยภาพทั้ง 10 ฐานให้ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่มีการจัดทำหลักสูตร "สูงวัยสร้างเมือง" กำหนดให้มีการเรียนการสอนเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งแรกศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ภายในตำบล ครั้งที่ 2 ให้เรียนตามหลัก สูตรสูงวัยสร้างเมือง
เช่น สอนทำลูกประคบสมุนไพร จากการอบรม 60 คน อาจผ่านแค่ 10 คน ก็นำ 10 คนดังกล่าว มาขยายผลต่อ ซึ่งขณะนี้มีนักเรียน สูงอายุเข้าเรียนแล้ว 3 รุ่น กำลังเปิดเรียนรุ่นที่ 4 และนักเรียนที่จบหลักสูตรสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มผลิตสมุนไพรลูกประคบ น้ำมันเหลือง
เมื่อเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความกระตือรือร้น ภาคภูมิใจ และรู้จักคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล เกิดความร่วมมือกับ รพ.สต. ในการจัดอบรมความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เพียงแค่รักษาเมื่อเจ็บป่วย หากยังเป็นการป้องกันในเชิงรุกด้วย
ขณะที่ในด้านสภาวะแวดล้อมก็มีการปรับสภาพแวดล้อม สำหรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กร ผู้สูงอายุนับเป็นแบบอย่างการบริหารจัด การโดยผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบชัดเจน ทำ งานร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ