พัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัย พัฒนาสังคมไทยยั่งยืน

การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานโครงการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติใน 12 พื้นที่ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ประกอบด้วย โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติจำนวน 11 พื้นที่ และสำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรวมถึงผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาวะองค์รวมที่ดีครบ 4 ด้าน คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม เพื่อร่วมสร้างชุมชน สังคม และประเทศให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการกิจกรรมสุขภาวะและการออกกำลังกายที่ถูกต้องเป็นระบบ

สำหรับในปีนี้การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานต่อยอดภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติ มุ่งปรับกระบวนการดำเนินงานให้พื้นที่จัดการตนเองมากขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี มีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยยังคงดำเนินโครงการในพื้นที่เดิม 12 พื้นที่ และกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมอีก 20 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 32 พื้นที่ ครอบคลุมประเภทอาคารแนวราบ อาคารชุด ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม การเคหะแห่งชาติจึงได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติ โดยมี นายกฤษดา รักษากุล เป็นประธานการประชุมฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สสส.ได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ การส่งเสริมและสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เกิดความเข้าใจและมีความรู้ สามารถนำมาช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของชาวชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักขององค์กรที่ไม่เพียงแต่สร้างที่อยู่อาศัยหากยังมุ่งเน้นสร้างความสุขแก่ชุมชน เพื่อให้ท้ายที่สุดเกิดเป็นชุมชนแห่งสุขภาพและความสุขอย่างยั่งยืน

ด้านนางโสภณา อภิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน ในตำแหน่งผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลจากการดำเนินงานในปีแรกสมาชิกในชุมชนเกิดความตระหนักรู้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในระยะยาว เกิดความเข้าใจในประเด็นการส่งเสริม การออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพอย่างเป็นกระบวนการ และสามารถสร้างสุขให้กับทุกชุมชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติในปี 2555 – 2557 จะผลักดันให้เกิด “พื้นที่สุขภาวะ” (healthy space) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกาย (physical activity) ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีของสังคม (social inclusion) ส่งเสริมให้มีการบริโภคที่ปลอดภัยและยั่งยืน (healthy and sustainable food)

ในขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินงานในปีแรกถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ชาวชุมชนเกิดความตื่นตัว และให้ความใส่ใจในสุขภาวะของตนเอง ทั้งการออกกำลังกายและการบริโภคอาหาร ซึ่งแต่ละชุมชนได้เสนอรูปแบบและสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ จึงถือว่าชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีจุดเด่นในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะทุกคนต่างช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนเอง

สำหรับโครงการต่อยอดนี้จะเน้นให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีสุขภาพดีได้ด้วยตนเอง สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ รวมทั้งเกิดจิตอาสาในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยจะเสริมการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย และการบริโภคอาหาร เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความอยากออกกำลังกาย ตลอดจนช่วยให้สามารถงดเว้นการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ได้ เช่น การจัดระเบียบให้ร้านขายขนมอยู่ไกลจากเด็ก นอกจากนี้ยังต้องการตอบสนองกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการทางสุขภาพ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เข้ามาอยู่ในโครงการใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่คุ้นเคย

ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติมีความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนการเคหะแห่งชาติ มีองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีครอบคลุมทุกมิติ สมาชิกในชุมชนตระหนักรู้ สภาวะโภชนาการที่ดี มีการพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการพื้นที่สุขภาวะและสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการได้ตามความต้องการของชุมชน และท้ายที่สุดสภาพแวดล้อมในชุมชนได้รับการพัฒนาและบำรุงรักษาให้สวยงาม สะอาด ร่มรื่น มีพื้นที่สุขภาวะเกิดขึ้นในชุมชน

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ