พลเมืองอาหาร สิทธิ บทบาทหน้าที่ ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ

พลเมืองอาหาร สิทธิ บทบาทหน้าที่ ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ thaihealth


เเฟ้มภาพ


“พลเมืองอาหาร (Food Citizenship) หมายถึง คนหรือผู้คน ที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ บทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนองและสังคม”


ความสำคัญของพลเมืองอาหาร แสดงให้เห็นในมิติต่าง ๆ ดังนี้


– ความตระหนักของบุคคลที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย


– การเปลี่ยนแปลงตนเองด้านการกิน ยังนำไปสู่การร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง


– การรับรู้เรื่องอาหารและเข้าใจถึงการกินที่โยงกับระบบอาหารในภาพรวมได้


จากระดับบุคคล สู่ระดับกลุ่ม และระดับการเข้าใจเชิงระบบหรือระดับสากล ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งสามระดับคือตนเอง ร่วมมือกับผู้อื่น ร่วมกับประชาคมโลกจากการเข้าใจระบบอาหารในภาพรวม และลงมือเปลี่ยนจากจุดที่ตนอยู่  นับเป็นบทบาทหน้าที่หรือพลังพลเมืองในระบบอาหาร  สร้างพลังชีวิตจากอาหาร  สร้างพลังผู้คน พลังสังคมโลกเพื่อระบบอาหารสุขภาวะ การเปลี่ยนแปลงของคน ๆ หนึ่งในอาหาร 3 มื้อในทุก ๆ วันของชีวิต คือ การปฏิวัติระบบอาหาร  วิถีอาหารที่ลงมือปฏิบัติในทุกวันได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ลองจินตนาการว่าประชากรโลกเกือบ 8,000 ล้านคน หากลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงสู่การกินที่ดี โลกและระบบอาหารจะเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนอย่างมากมาย


ความตระหนักนี้อาจเกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวสาร อาทิ ความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยของอาหารทั้งจากการปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้  หรืออาหารที่ขาดคุณค่าโภชนาการเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ  หรือจากความเจ็บป่วยของบุคคลนั้นๆ ดังนั้นไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามที่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการกิน จำเป็นต้องผนวกกับความคิดความเชื่อที่ว่าเราทุกคนมีศักยภาพและพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากอาหารที่เรากินในทุกวันของชีวิต  อันสวนทางกับกระแสสังคมบริโภคนิยมที่ผู้บริโภคมักรู้สึกไร้พลัง ติดกับดักความสะดวก และความไม่รู้ในเรื่องอาหาร


แผนอาหารระยะ 3 ปี นับแต่นี้คือตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2567 มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างพลังผู้คน พลังความรู้และพลังความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระบบอาหาร  ซึ่งก็คือเรื่อง พลเมืองอาหาร ความรอบรู้ด้านอาหารและชุมชนอาหาร ท่ามกลางความท้าทายและวิกฤตปัญหามากมาย อันได้แก่ ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการผลิตอาหาร การพัฒนาเมืองที่ทำให้พื้นที่อาหารลดลง ความเหลื่อมล้ำในระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมจากการผูกขาดและการเอาเปรียบจากราคาผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร  โรคระบาดใหม่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและการเข้าถึงอาหารโดยเฉพาะการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ  ปัญหาที่กล่าวมานี้จึงไม่ใช่เป็นบทบาทหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง  หากคือหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคน เราเปลี่ยนจากวิถีอาหารในทุกวันด้วยการมีพฤติกรรมในชีวิตที่จะสร้างอาหารและการกินที่เกื้อหนุนให้เกิดระบบการผลิตอาหารที่มีโภชนาการมีคุณภาพ สร้างความปลอดภัย ความมั่นคงด้านอาหาร และความเป็นธรรม


นิยามของคำว่า พลเมืองอาหารในแผนอาหารระยะ 10 ปี คือ  “คนหรือผู้คน ที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ บทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนองและสังคม”


วิถีอาหารก็คือ “การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน” หากการเมืองคือเรื่องของอำนาจ คนกินคือผู้มีอำนาจกุมชะตากรรมของระบบอาหาร เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัว และเปลี่ยนแปลงโลกจากอาหารสามมื้อ


แนวทางการพัฒนา “พลเมืองอาหาร”


“พลเมืองอาหาร” (Food citizens) เป็นเป้าของยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในแผนอาหารระยะ 10 ปี ที่มีประเด็นสำคัญ ดังนี้


– พลเมืองอาหารเป็นการดูแลสุขภาพตนเองในขั้นพื้นฐานของคนทุกคน


– พลเมืองอาหารคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การลงมือทำ การสนับสนุนกันและกัน จนถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย 


– พลเมืองอาหารทำเรื่องเล็ก แต่ผลกระทบยิ่งใหญ่ จากเรื่องอาหารที่เรากินสามมื้ออยู่ทุกวันส่งผลสิ่งแวดล้อม


– การสร้างพลเมืองอาหารควรมุ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารจนถึงผู้บริโภคสั้นที่สุด อยู่ในกรอบมาตรฐานที่ดี มีการเฝ้าระวังอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่


– พลเมืองอาหารที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมีการเติมพื้นฐานความรู้ให้เพียงพอและเท่าทันด้านอาหารในการดูแลตนเองและครอบครัว ให้แก่ประชาชนและเยาวชน “กินเป็น” ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหาร


ข้อเสนอแนะต่อการวางแผนสร้าง “พลเมืองอาหาร”


– เบื้องต้นต้องตระหนักว่า ภาคีโครงการคือพลเมืองอาหาร


– การออกแบบโดยผ่านการวิเคราะห์ทุนที่มีอยู่จริงในพื้นที่ คือการมีส่วนร่วมจากภาคีพื้นที่มีความสำคัญต่อการสร้างพลเมืองอาหาร จึงควรมีการ mapping ต้นทุนภาคีพื้นที่เพื่อสามารถบริหารภาคีที่มีศักยภาพให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนและแสดงบทบาทได้อย่างเหมาะสม เติมเต็มสิ่งที่จำเป็นต้องมี/ต้องเกิด เพื่อนำไปสู่พลังความร่วมมือ


– แผนที่กำหนดสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ และโอกาสที่มีอยู่จริง


– ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสมรรถนะแก่ภาคีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างระบบอาหารที่มีสุขภาวะจากพลังผู้คน


– ตัวชี้วัดของแผนกำหนดเป้าหมายใหญ่ปลายทาง และสามารถปรับตัวชี้วัดระหว่างทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้


 


แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ธีรวัฒน์ อภิปรัชญาฐิติกุล นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ สสส.


และนางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด บริษัท อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล จำกัด

Shares:
QR Code :
QR Code