‘พลิกเสี่ยง เปลี่ยนให้เป็นบวก’ สังคมไทยที่เด็กเยาวชนอยากเห็น

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 


ภาพประกอบจากแฟนเพจ BMC TV


'พลิกเสี่ยง เปลี่ยนให้เป็นบวก' สังคมไทยที่เด็กเยาวชนอยากเห็น thaihealth


เพราะเสียงของเด็กเยาวชนนั้นมีค่าและมีความหมาย!!!ดังนั้นผู้ใหญ่จึงไม่ควรมองข้าม ต้องหันมารับฟัง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


จากเวที "พลิกเสี่ยง เปลี่ยนให้เป็นบวก สังคมไทยที่เด็กเยาวชนอยากเห็น" จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้สะท้อน ส่งเสียงส่งพลัง เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับฟังและนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา และการส่งเสียงในครั้งนี้ เด็กเยาวชนจะเป็นผู้ร่วมรณรงค์ แก้ไขปัญหาและปกป้องเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในบทบาทเยาวชนพลเมืองด้วย


งานนี้มีเด็กเยาวชนมาร่วมส่งพลังเสียงกว่า 80 คน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดแม่แรงอย่าง มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน


นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ หรือ "น้องม๊อบ" แกนนำเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง บอกเล่าที่มาของการรวมตัวเยาวชนเปิดเวทีครั้งนี้ว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นพื้นที่เล็กๆ จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนได้แสดงออกและร่วมแลกเปลี่ยน เนื่องจากเราเห็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่รอบตัวตามตรอกซอกซอย มีช่องทางการมั่วสุม มีอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด สื่อไม่ปลอดภัย ฯลฯ เวทีนี้เราเริ่มระดมความคิดเห็นมาตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. โดยเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เด็กเยาวชนต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รอบตัว นอกจากนี้เรายังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางโพลยูรีพอร์ต เสนอคำถามและตอบในประเด็น เรื่องพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสร้างสรรค์ โดยทำการสำรวจเด็กเยาวชนอายุ 14-24 ปี จำนวน 1,882 คน พบว่า เยาวชนเกือบครึ่งหนึ่ง มองว่าพื้นที่ในชุมชนที่อาศัยอยู่ไม่ค่อยปลอดภัย 35% ระบุว่า มีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย นอกจากนี้ 1 ใน 3 อยากมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์หรือสร้างความปลอดภัยในชุมชน ขณะที่ 42% อยากให้รัฐบาลเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนมากที่สุด


'พลิกเสี่ยง เปลี่ยนให้เป็นบวก' สังคมไทยที่เด็กเยาวชนอยากเห็น thaihealth


"ผมอยากเห็นสังคม ชุมชน น่าอยู่ มีพื้นที่สร้างสรรค์ เดินไปไหนก็รู้สึกปลอดภัย ไม่มีมุมอับ ไม่มืด ไม่เปลี่ยว ไม่อันตรายไม่ทำร้ายกัน คนในชุมชนหันหน้าพูดคุยกันมากขึ้นทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เช่น นำศิลปะมาเปลี่ยนมุมอับให้เป็นมุมสวยงามน่าอยู่มากขึ้น ร่วมเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา สนับสนุนคนที่ทำดี เป็นจิตอาสา ส่วนเจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบความเรียบร้อย สอดส่องดูแลอย่างเข้มงวด" น้องม๊อบ กล่าวทิ้งท้าย


นางสาวศิริรัตน์ จันทร์เอียด หรือ "น้องแป๊บ" อายุ 21 ปี ชั้นปีที่ 3 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในนามกลุ่มเยาวชนเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง บอกว่า จากการลงพื้นที่พบปัญหาร้านเหล้าผับบาร์เพิ่มมากขึ้น แถมยังมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม มีเครื่องดนตรี มีการเชียร์ให้ดื่ม ฯลฯ คือมันจูงใจให้เข้าไปดื่มเหล้าเบียร์ได้ง่ายมาก อยากส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวดจริงจัง ควบคุมร้านเหล้าให้อยู่ในกรอบกติกา ที่สำคัญต้องไม่โฆษณาส่งเสริมการขาย อย่าดึงเด็กเยาวชนให้เข้าไปอยู่ในวังวน


นายกิตติชัย ทั่วด้าว หรือ "อชิ"  สะท้อนถึงปัญหาการพนันในสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องยอมรับว่าการพนันอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน มีเทคโนโลยีก้าวไกลเข้าถึงได้ง่าย โต๊ะบอล หวยใต้ดิน คนในชุมชนติดการพนันมากขึ้น มองว่าไม่ผิดกฎหมาย จนกลายเป็นความเคยชินอีกทั้งยังไม่เข้าใจว่าการพนันมีโอกาสชนะน้อยมากคิดแค่ว่าเสียแล้วต้องหาโอกาสเอาคืน


"ลำพังเยาวชนอย่างพวกเราต่อกับสู่ปัญหาพวกนี้เพียงลำพังไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันแนวทางแก้ปัญหาคือ ต้องควบคุมการพนันให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ปราบปรามอย่างจริงจัง มีนโยบายออกมาควบคุม หน่วยงานต่างๆ ต้องกระตือรือร้นในการทำงาน บำบัดผู้ที่ติดการพนัน เพราะไม่ต่างจากการติดยาเสพติดเข้มงวดจับกุม สาวไปให้ถึงต้นตอ เราต้องตระหนักถึงวิกฤติปัญหาการพนัน รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง" อชิ ระบุทิ้งท้าย


'พลิกเสี่ยง เปลี่ยนให้เป็นบวก' สังคมไทยที่เด็กเยาวชนอยากเห็น thaihealth


นายธนาธร แป้นประเสริฐ "น้องบุ๊ค" อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทวีธาภิเศก พูดถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัยในปัจจุบันว่าสื่อในยุคปัจจุบันเข้าถึงง่าย หากเราใช้ไปในทางที่ถูก มันก็เกิดประโยชน์ แต่ปัจจุบัน ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่ใช้สื่อโซเชียลไปในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดปัญหา ปัยจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สื่อกระตุ้น มอมเมา แชร์โดยไม่ศึกษาข้อมูลรายละเอียด ควบคุมยาก ขณะนี้เด็กเยาวชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ตกเป็นเครื่องมือ ในขณะที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังไม่สามารถเอาผิดนำมาลงโทษ หรือปิดเว็บไซต์เหล่านี้ได้เลย  อยากให้ทบทวนหันมาใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ มีทักษะรู้เท่าทัน หาข้อมูลให้ดีก่อน


ขณะที่ "น้องเชอร์รี่" นางสาวลลิตา แก้วนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรง ปัญหาการคุกคามทางเพศว่า ขณะนี้ปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและเยาวชนมีให้เห็นในสังคมไทยมากขึ้น เห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามสื่อต่างๆในโซเชียล และแม้แต่การแซว การลวนลามทางสายตา ก็ถือเป็นการคุกคาม ขณะเดียวกันผู้หญิงไม่มีทักษะในการปฏิเสธ สาเหตุคือเยาวชนมีสื่อโซเชียลที่เข้าถึงง่าย จึงนำไปสู่ปัญหา และละคร เช่น ฉากข่มขืน ตบตี ทะเลาะวิวาท ก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการเลียนแบบ สร้างค่านิยมให้ทำตาม ขณะเดียวกันครอบครัว ชุมชนโรงเรียน มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กออกจากพื้นที่เสี่ยงได้


"อยากฝากถึงผู้ใหญ่ต้องไม่ซ้ำเติมให้เด็กไม่มีที่ยืน และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีเข้าใจเด็ก ไม่ตีตรา บั่นทอนหรือลดคุณค่าของเด็ก ที่สำคัญสังคมต้องไม่มองปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว มีมายาคติการหล่อหลอมจากสังคม ที่สืบทอดกันมา ทั้งนี้ทางออก คือ ครอบครัวต้องใส่ใจ พูดคุยเรื่องเพศ ไม่ตำหนิ ร่วมกันแก้ปัญหา ชุมชนเป็นหูเป็นตาและอย่าเพิกเฉย มีพื้นที่สร้างสรรค์มีกิจกรรมให้เด็ก  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแล มีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความเข้าใจเรื่องเพศ" น้องเชอร์รี่ กล่าว


เสียงสะท้อนของเด็กเยาวชนเหล่านี้ เรียกได้ว่าสังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความเสี่ยง ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีนให้เด็กมีแนวคิด มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต เด็กเกิดกระบวนการทางความคิด สร้างกระบวนการสร้างจิตสำนึกนำไปสู่การพัฒนา ถ้าไม่เริ่มก็ไม่สำเร็จ ต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันรณรงค์บังคับใช้กฎหมาย หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข จะเป็นทางออกได้ดีที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code