พลิกฟื้นประเพณีสงกรานต์ปลอดเหล้า-ปลอดภัย
แม้สงกรานต์ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะผ่านพ้นไปแล้วแต่ในบางพื้นที่ยังคงมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ส่งท้ายกันอย่างคึกคัก และสงกรานต์ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้า ไหล่ทาง ถนน สถานีขนส่ง และบนทางรถไฟหรือขบวนรถไฟ
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ในปีนี้เรายังคงเน้นไปที่มาตรการ "สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า" ซึ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือจากหลายๆ พื้นที่ ดังที่จะเห็นได้จากถนนตระกูลข้าวต่างๆ ในประเทศที่กระจายอยู่ทั่วไปกว่า 40 แห่ง และพื้นที่ต่างๆ อีกกว่า 100 แห่ง ได้จัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ทำให้ในหลายพื้นที่ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุได้ หรือบางพื้นที่แทบจะไม่มีเลยและในปีนี้เป็นปีแรกที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้า หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยังมีกฎหมายการปฏิเสธการเป่า เท่ากับ เมาแล้วขับ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือโทษปรับ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยังพบว่า แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้มากถึง 200 โรค และทั้งโลกมีคนเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ปีละกว่า 3 ล้านคน เฉพาะคนไทยกว่า 26,000 คน เฉลี่ยทุกๆ 20 นาทีจะมีคนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่ผ่านมา สคล.และเครือข่ายได้มีการประกาศเจตนารมณ์ ในการรณรงค์และมาตรการส่งเสริมเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย โดยภาพรวม ได้แก่ 1.เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 2.คิดรูปแบบการป้องกันที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยคิดจากฐานข้อมูลจริง 3.เยาวชนเป็นกลุ่มที่สำคัญในการรณรงค์ เพื่อไม่ให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ 4.นโยบายท้องถิ่น ต้องให้มีการจัดงานต่างๆ ปลอดเหล้า
"จากการสำรวจของทีมงาน พบว่า ชาวบ้าน 80% เห็นด้วยการจัดโซนนิ่งปลอดเหล้า และไม่น่าเชื่อว่า 93% เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ส่วนปัญหาที่พบของการจัดโซนนิ่งปลอดเหล้า คือ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มีการวางจำหน่ายแอลกอฮอล์ตรงบริเวณทางออกของงานที่ปลอดน้ำเมา ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน เท่ากับเป็นส่งเสริมให้คนดื่มก่อนเดินทางกลับบ้าน ซึ่งในชนบทส่วนใหญ่จักรยานยนต์ จึงเสี่ยงอันตรายมาก และสถิติการเสียชีวิตก็เป็นผู้ขี่จักรยานยนต์ดื่มน้ำเมามากที่สุด"ภก.สงกรานต์ กล่าว
ด้าน นายนพดล วรรณบวร (กุ่ย) วัย 35 ปีที่ประสบอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ อุบัติเหตุในครั้งนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องถูกตัดขากลายเป็นคนพิการในวัยเพียงแค่ 17 ปี ดับฝันในการเป็นนักกีฬา
นายนพดล เล่าว่า ในตอนนั้นตนอายุ 17 ปี มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬา ในวันสงกรานต์ได้เดินทางกลับมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อไปเจอเพื่อนสมัยเรียนมัธยม ก็ได้มีการตั้งวงดื่มเหล้ากัน แต่ตนไม่ดื่มและไม่สูบบุหรี่ แต่เข้าไปร่วมวงกับเพื่อนๆ ด้วย พอได้เวลากลับบ้าน ต่างคนแยกย้าย/ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เพื่อนกลับ ส่วนเพื่อนที่เป็นเจ้าของรถเมา ตนเลยอาสาขับให้ ขับตามคันอื่นๆ กันไป ตนขับช้าที่สุด ตอนประสบอุบัติเหตุ รถบรรทุกที่พยายามแซงมาตลอดได้หักรถพุ่งเข้าชนรถที่ตนขับ เมื่อรถล้มคนขับพยายามที่จะถอยรถมาทับซ้ำอีกที ในตอนนั้นคนขับรถลงมาดู ตนเห็นชัดว่า คนขับรถบรรทุกตาแดง มีอาการของคนเมา และโชคดีที่บริเวณที่เกิดเหตุอยู่หน้าโรงงาน รปภ.จึงช่วยไว้ ไม่เช่นนั้นคงโดนรถบรรทุกทับตายแน่ ส่วนเพื่อนสามารถโดดออกมาก่อนจึงรอด
"บริเวณขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถมอเตอร์ไซค์ทับ ในวันนั้นเป็นวันสงกรานต์ที่โรงพยาบาลมีคนประสบอุบัติเหตุและมีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แพทย์ที่รักษาตนทำการรักษาได้ 3 วัน และจากนั้นเป็นวันหยุดมีแต่พยาบาลเข้ามาดูแล เมื่อแผลไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอจึงเกิดการติดเชื้อ จะขอย้ายโรงพยาบาลก็ไม่มีแพทย์เซ็นให้ย้าย กว่าจะดำเนินเรื่องเสร็จเมื่อย้ายโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จำเป็นต้องตัดขาทิ้งเพื่อรักษาชีวิตไว้"
นายนพดล กล่าวว่า หลังจากวันนั้นความฝันทุกอย่างต้องหยุดลง กลายเป็นคนพิการ แต่ก็พยายามลุกขึ้นสู้เพื่อครอบครัว จึงอยากจะฝากว่า คุณสามารถดื่มได้ แต่ควรดื่มที่บ้าน เมื่อเมาแล้วนอน หรือนั่งแท็กซี่กลับบ้าน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนที่อยู่ข้างหลังคุณจะได้รับผลกระทบนั้นๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะพิการหรือเสียชีวิต และคนที่เขาไม่ได้ดื่มแต่ต้องมารับผลจากการดื่มแล้วขับของคุณมันไม่คุ้มกัน แต่การไม่ดื่มเลยจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
"การออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังด้วย อย่างในประเทศญี่ปุ่นทั้งคนที่เมาแล้วขับ และคนนั่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะโดนลงโทษและปรับเป็นจำนวนเงินที่มาก จึงทำให้คนไม่กล้าที่จะฝ่าฝืน แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ตนมองว่า การบังคับใช้กฎหมายยังอ่อนอยู่ มีการเลือกปฏิบัติ สามารถไกล่เกลี่ยได้ อีกทั้งบ้านเรายังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนของผู้กระทำผิดในกรณีเมาแล้วขับ ซึ่งน่าจะปรับปรุงได้แล้ว หากประเทศไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เหมือนต่างประเทศ ตนเชื่อว่าจะสามารถควบคุมการเกิดอุบัติเหตุจากกการเมาแล้วขับได้ 100% เลย" นายนพดล กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง