พลิกผืนป่าต้นน้ำ คืนชีวิตให้ชุมชน

ปัญหาของต้นยวนที่หนักหนาสาหัสอย่างหนึ่ง คือเรื่องการขาดแคลนน้ำ จึงเกิดคำถามตามมาว่า คนที่นี่เขาแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างไร ซึ่งคำตอบก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมมือ ที่แหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดการป่าชุมชน

พลิกผืนป่าต้นน้ำ คืนชีวิตให้ชุมชน

แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านถ้ำผึ้ง ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางจากที่ทำการอบต. ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 นาที แต่เดิมที่นี่มีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ สังเกตสองข้างทาง ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน แทบไม่เหลือพื้นที่ป่าต้นน้ำเท่าไร

ผู้ใหญ่บุญทัน บุญชูคำผู้ใหญ่บุญทัน บุญชูคำ ประธานกลุ่มเรียนรู้เล่าให้ฟังว่า เมื่อช่วงปี 2518 – 2522 รัฐบาลมีนโยบายหากินง่ายๆ จากการให้สัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ ต้นยวนก็เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งประสบชะตากรรมดังกล่าว เพียงเวลาไม่กี่ปี จากเดิมที่มีพื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้เป็นพันไร่ กลับลดลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยไร่

ผู้ใหญ่บุญทันยังเล่าต่ออีกว่า ตั้งแต่ปี 2532 รัฐประกาศปิดป่า ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่กลับกลายเป็นว่า ในช่วงที่ยังไม่มีการประกาศกฎหมายเรื่องเขตป่าสงวนที่ชัดเจน ก็มีชาวบ้านบางส่วนได้เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อจับจองเป็นพื้นที่ทำกินอีก ส่งผลให้พื้นที่สีเขียวอยู่ในสภาพที่แย่ลงไปอีก

เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต ในตอนนั้นคนที่อยู่ท้ายน้ำแทบไม่มีน้ำใช้ ทั้งเวลาฝนตกหนักก็มักจะเกิดดินถล่ม แต่ปี 2527 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของชาวต้นยวน

ผู้ใหญ่บุญทันเล่าว่า สมัยนั้นชาวบ้านไม่ได้มีความรู้ทางวิชาการ คิดเพียงง่ายๆ ว่า ถ้ามีต้นน้ำ น้ำก็ไม่แล้ง ทุกคนเลยช่วยกันต่อสู้เพื่อกันพื้นที่ป่าบริเวณคลองบางกุยจำนวน 321 ไร่ให้เหลือเป็นป่าต้นน้ำ โดยทำอยู่เพียงไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นผล ป่าเริ่มกลับมาสมบูรณ์ มีผึ้งและสัตว์ป่ากลับเข้ามาอาศัย น้ำจืดก็มีกลับมาให้กินให้ใช้

พลิกผืนป่าต้นน้ำ คืนชีวิตให้ชุมชน “ช่วงเดียวกันนั้นเองพอเห็นว่า น้ำเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ เราได้ร่วมกันสร้างฝายเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ผลก็คือชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 กว่าร้อยครัวเรือน ได้มีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน” ผู้ใหญ่บุญทันเล่า

ผลจากรูปธรรมจึงเกิดข้อตกลง และแรงจูงใจที่จะร่วมมือในการกันพื้นที่จำนวน 241 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 5 เป็นป่าชุมชนเพิ่มเติม และมีการร้องขอให้สำนักงานป่าไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้ามากันแนวเขตป่าชุมชน ทั้งยังเกิดกลุ่มอนุรักษ์ป่าถ้ำผึ้งขึ้นในปี 2547 ซึ่งเกิดจากการรับสมัครผู้ที่มีจิตอาสาเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการอนุรักษ์ป่าชุมชน และในการประชุมหมู่บ้านสมัยหนึ่ง ได้มีมติร่วมกันว่า จะขยายพื้นที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้งไปเป็นจำนวน 1,636 ไร่ 77 ตารางวา

ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จากพื้นที่ป่าเพียงหลักร้อย กลายเป็นหลักพัน ถ้าทุกชุมชนในประเทศไทยทำได้ เรื่องปากเรื่องท้องของเราคงหมดห่วงไปอีกหลายปี

แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคมากมาย ซึ่งชาวต้นยวนก็สู้ไม่ถอย เพราะว่าป่านี่คือชีวิตของพวกเขา ที่ถ้าไม่รักษาไม่สู้ด้วยกำลังตัวเอง จะรอให้คนอื่นมาสู้แทนไม่ได้ ข้าราชการที่มาจากนอกพื้นที่จะรู้ดีกว่าผู้อยู่อาศัยได้อย่างไร

พลิกผืนป่าต้นน้ำ คืนชีวิตให้ชุมชน“ประมาณปี 2550 เราสู้จนป่าชุมชนหมู่ 5 บ้านถ้ำผึ้งได้รับการจดทะเบียนป่าชุมชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปบริหารจัดการป่าอย่างเป็นรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น และต่อมาในปี 2551 เราก็ได้รับรางวัลป่าชุมชนต้นแบบภาคใต้จากกรมป่าไม้ ในการบริหารจัดการที่ดี” ผู้ใหญ่บุญทันย้อนความให้ฟัง

นอกเหนือจากกำลังของชาวบ้านแล้ว การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้จากหน่วยงาน สถาบันการศึกษา หรือจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านออกไปดูงาน เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดการป่าชุมชน และที่สำคัญคือการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน

“การที่จะทำป่าชุมชนให้ยั่งยืน เราต้องสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ และชาวบ้านทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วม จะให้บางส่วนหรือ คณะกรรมการเป็นคนรับผิดชอบอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าคนรุ่นนี้ หรือคณะกรรมการรุ่นนี้ตายไปแล้ว และไม่มีคน มาสานงานต่อ สิ่งที่เราสร้างไว้มันก็จะค่อยๆ หายไป” ผู้ใหญ่บุญทันทิ้งท้าย

ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code