พลัง ‘เป็ด’ เปลี่ยนโลก

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


พลัง 'เป็ด' เปลี่ยนโลก thaihealth


นักการตลาดเพื่อสังคม สสส. ร่วมแสดงแนวคิดพลังการสื่อสาร นำความรู้จากวิชาชีพนักโฆษณา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมน่าอยู่ 


"การสื่อสารที่ดีสร้างแรงกระตุ้นได้รุนแรงเหมือนกาแฟดำ และคงยากที่จะนอนหลับหลังจากนั้น" – แอนน์ มอร์โรว์ ลินด์เบิร์ก นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้แสวงหาคุณค่าแท้จริงในชีวิตกล่าวไว้เช่นนั้น ซึ่งมันเกิดขึ้นกับตัวหลังได้ฟังเรื่องราวของ "เป็ด" ทั้ง 14 คนบนเวที "เป็ด เปลี่ยน โลก" ในงานออนสเตจ ทอล์กโชว์ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบ 51 ปีของคณะนิเทศศาสตร์ และครบรอบ 100 ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บนเวทีเล็กๆ เป็ดทุกคนต่างเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่ทำหน้าที่สื่อสารอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในสังคม โดยใช้ "พลังงานการสื่อสาร" มุ่งไปสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อหวังสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงในระดับความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของบุคคล กลุ่ม สังคม หรือทั้งโลก 


พลัง 'เป็ด' เปลี่ยนโลก thaihealth


พลังนักการตลาดเพื่อสังคม


งานเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ดื่มแล้วขับถูกจับคุมประพฤติ คุณมาทำร้ายฉันทำไม (บุหรี่) กอดคอคุยกับลูก (เพศ) ลดพุงลดโรค รักจริงรอได้ เป็นต้น ซึ่งงานทั้งหมดเกิดขึ้น โดยมี ไอ๋-สุพัฒนุช สอนดำริห์ นักวางแผนผู้อยู่เบื้องหลังแผนงานสื่อสารอันสร้างสรรค์


"ไอ๋มีความฝันที่อยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม คิดว่าวิชาชีพนักโฆษณาของเราน่าจะเป็นประโยชน์ และรู้สึกว่าชอบบ่นเรื่องงานรัฐ เราเลยอยากพิสูจน์ตัวเองว่าถ้าตัวเองลองทำดูแล้วจะทำได้ไหม วันแรกที่มาทำงานยังไม่รู้เลยว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่และอยู่ตำแหน่งอะไร พอทำงานไปก็เจออุปสรรคเยอะ แต่เราให้เวลา ตัวเองสามปี มีเป้ากับตัวเองว่ายังไงก็จะไม่ท้อ เพราะตอนนั้นมีคนเสนองานให้เยอะเหมือนกัน ซึ่งทุกคนไม่เข้าใจว่าทำงานเอกชนอยู่ดีๆ ทำไมถึงออกมาทำภาครัฐ และตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก สสส. เพราะองค์กรเพิ่งตั้ง แต่ยังไงเราก็จะพิสูจน์ว่าความตั้งใจของเราจะทำได้ไหม ถ้าไม่รอดก็จะกลับไปทำเอกชน"


ปัจจุบันเธอทำงานที่ สสส.มานาน 14 ปี อยู่เบื้องหลังงานมากกว่า 200 แคมเปญ กับตำแหน่งที่เธอนิยามเองว่าเป็นนักการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) นักการตลาดที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงสร้างสรรค์งานเพื่อการตลาด แต่ยังหวังที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น


"การที่เราจะออกแบบสิ่งที่จะทำให้สังคมดีขึ้น จุดเริ่มต้นต้องหากลยุทธ์ให้เจอก่อน หาโปรดักต์ให้เจอว่าเราจะชวนเขาทำอะไร ซึ่งมันไม่มีแบบสำเร็จ แต่มันได้มาจากการรีเสิร์ชข้อมูล คุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อหาให้เจอว่าอะไรเป็นตัวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น จากนั้นจึงออกแบบเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และเราพบว่าเครื่องมือนั้นไม่ได้มีแค่การสื่อสาร แต่ยังมีเครื่องมือในเชิงการขับเคลื่อนจริง"


พลัง 'เป็ด' เปลี่ยนโลก thaihealth


ผ่านพ้น 3 ปีที่ตั้งไว้มานาน วันนี้ไอ๋มี เป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือ การสร้างวิชาชีพนักการตลาดเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่เห็นการทำงานของ สสส. แล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากใช้เครื่องมือทางการตลาดและการสื่อสารเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น


"มันคงดีถ้าเราตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วได้ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ แค่นั้นเอง แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันค้นพบว่าเหนื่อยมากที่เราจะทำอยู่ไม่กี่คน และเราก็เห็นว่าในเมื่อมันพิสูจน์ตัวเองได้ มันมีพื้นที่และโอกาสให้ทำเยอะมาก เป้าหมายของไอ๋เริ่มเขยิบขึ้นมาที่จะอยากเห็นวิชาชีพนี้เกิดขึ้น อยากเห็นกระบวนการความรู้ อยากเห็นคนรุ่นใหม่รับไม้ต่อ ซึ่งดีใจที่ตอนนี้มีคนสนใจมากขึ้น มีคนเห็นว่าการทำงานรัฐก็เท่ได้ไม่แพ้เอเยนซีโฆษณา และหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยแม้ว่าเงินเดือนจะไม่เท่ากับเอกชน แต่มันก็สามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ความสุขของเราคืออะไร"


เธออยากเห็นประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมก็จะดีตามไปด้วยตามกลไก ดังนั้นเป้าหมายปลายทางของไอ๋และขององค์กร คือ อยากกระตุ้นให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจด้วยตัวเอง ในการปรับการใช้ชีวิตไปสู่เฮลตี้ไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย


"ระหว่างการทำงานจะมีปัญหาเข้ามาเสมอๆ และปัญหาในแต่ละครั้งมีจุดที่ยากและท้าทายตัวเอง แต่ความท้าทายนั้นไอ๋ได้ค้นพบว่าตัวเองจะเรียนรู้มันและมีวิธีคิดเชิงบวกกันมันได้ไหม แล้วเราจะปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ผ่านเรื่องนั้นไปได้หรือเปล่า มันเลยทำให้ในทุกๆ อุปสรรคหรือปัญหาเป็นจุดทบทวนชีวิตว่าเราจะเลือกไปทางไหน ท้อแล้วเลิก หรือจะเลือกเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไข พัฒนา ซึ่งบางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านไปได้ไหมในจุดที่ยากมากๆ แต่ทุกครั้งไอ๋จะคิดถึงความสุขที่ได้เจอ"


เมื่อเป้าหมายใหญ่กว่าปัญหา เธอจึงเลือกที่จะแก้ปัญหาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย แม้ว่าจะเหนื่อยทุกครั้ง แต่นับเป็นความเหนื่อยที่มีความสุขและเธอยังอยากตื่นขึ้นมาเจอทุกวัน

Shares:
QR Code :
QR Code