พลังแห่งความเปลี่ยนแปลง ผลักดันประเทศไทยสู่ “สังคมปลอดควัน”

ข้อมูลจาก : เวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” 
ภาพโดย Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
                    ปัจจุบัน ข่าวคราวที่สะท้อนถึงพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มมีให้ได้ยินมากขึ้น
                    ล่าสุด มีสื่อต่างประเทศนำเสนอข่าววัยรุ่นชายชาวอังกฤษวัยเพียง 17 ปี มีอาการป่วย ไอออกมาเป็นเลือด โดยมีสาเหตุหลักคือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลเบื้องลึกพบว่าชายวัยรุ่นคนดังกล่าวเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วัยเพียง 12 ปี
                    ข่าวดังกล่าวสะท้อนว่าปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยซึ่งการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายในเวลานี้ หลังมีสถิติพบกลุ่มเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น
                    จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จาก 3.3% ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า แต่ข้อมูลที่สำคัญชวนตกตะลึงคืออายุของเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปีเท่านั้น!
หลุมพรางควันบุหรี่ 
                    ประเด็นดังกล่าวถูกสะท้อนโดยกลุ่มคนทำงานขับเคลื่อนบุหรี่ไฟฟ้า  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวใน เวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” อีกหนึ่งเวทีที่เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเติมทักษะ ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสมรรถนะการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจาก 52 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
                    โดย นพ.พงศ์เทพ กล่าวยอมรับว่าการต่อสู้กับสงครามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสงครามที่ยากจะเอาชนะ ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วนที่ร่วมใจรวมพลังกันฝ่าฟันไป
                    “การทำงานขับเคลื่อน เพื่อทำสงครามกับบุหรี่วันนี้ สมรภูมิเปลี่ยนไปหมดแล้ว เนื่องจากการ disruption ของเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนคือการมาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือเพศหญิงกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
                    “ตอนนี้ผู้หญิงไทยสูบประมาณ 1.3% แต่เยาวชนที่เป็นผู้หญิง พบว่าสูบอยู่ถึง 15% เพราะวันนี้ควันบุหรี่มันหอมซะแล้วครับ”
                    ผู้จัดการ สสส.เอ่ยถึงสถานการณ์ว่า หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะเป็นการเพิ่มอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงสูงเพิ่มไปถึง 30-40% 
                    “ซึ่งเมื่อเขากลายเป็นผู้ใหญ่ก็จะติดบุหรี่ตามไปด้วย อย่างที่ทราบว่าปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 80 ปี ซึ่งมากกว่าผู้ชายไทยที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี ถึง 8 ปี เนื่องจากผู้ชายมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า แต่หากอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นจนอายุสั้นเท่ากับผู้ชายที่ 72 ปี ก็เป็นได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ความหอมหวานที่ซ่อนยาพิษ
                    ความแตกต่างของบุหรี่มวนในอดีตกับบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพราะควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีกลิ่นเหม็นอีกต่อไป กลับกลายเป็นกลิ่นหอมหวานที่ล่อลวงให้นักสูบหน้าใหม่อยากลิ้มลองและอาจติดได้ง่ายดายตั้งแต่ในครั้งแรก
                    นพ.พงศ์เทพเอ่ยว่านี่คือสิ่งที่ทำให้หลายหลงลืมไปว่า บุหรี่คือความสุขเทียม เพราะทำให้เราเสพติดและอยากได้มากขึ้น ๆ
                    “การสูบบุหรี่ เป็นความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าสูบแล้วติด เราต้องกลับไปสูบอีก พอเราไม่สูบเริ่มลงแดง จะอยากได้มากขึ้นและมากขึ้น ในที่สุดก็กลายเป็นทาส และวันหนึ่งก็ต้องชดใช้ครับ เพราะไม่มีของฟรีในโลก” นพ.พงศ์เทพ เปิดเผย
                    “บุหรี่ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยตายก่อนวัยอันควร ถ้ารวมกันแล้วมากถึง 3.5 ล้านปีต่อปี  ซึ่งหากคนเรามีอายุขัย 80 ปี แต่ถ้าเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ เช่น เป็นโรคหัวใจ เทียบเท่ากับว่าชีวิตเขาหายไป 40 ปี”
                    “วันนี้เรากำลังรบในสงครามที่ยากจะเอาชนะ เป็นสงครามทุนนิยมที่มีเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่เรามีโอกาสชนะถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อสาร ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร โดยมีงานวิจัยว่า 1 บาทที่ได้ลงไปกับการทำงานด้านยาสูบ จะได้คืนมา 10 บาท ซึ่งเกิดจากอายุคนไทยที่ยืนยาวขึ้น แล้วกลับมาเป็นแรงงานของประเทศ ลดอัตราความพิการ ลดการป่วยติดเตียง แต่ละบาทนั้นไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคนไทยที่แข็งแรงขึ้น” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
                    ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานรณรงค์สื่อสารเรื่องพิษภัยบุหรี่ต่อสาธารณชนและสังคมไทยมาต่อเนื่อง กล่าวยอมรับเช่นกันว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าคือภัยสุขภาพชนิดใหม่ที่กำลังคุกคามสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนมากขึ้น
                    พร้อมเผยสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยย้อนหลัง 30 ปีที่ผ่านมา ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น นั่นคือโดย ปี 2564 พบประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.1 ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2534-2564 ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534 ลดไป 1.4 ล้านคน แต่ปัจจุบัน กำลังหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนที่
                    “แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง รวมถึงครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ” เอ่ยเสริมว่า ซึ่งแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย และแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต เปิดเผย
ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือ
                    การรับมือปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง
                    เสียงจากคนทำงานในระดับพื้นที่ แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้าแพร่อย่างรวดเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือเรียกว่าแทบไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่ถูกการรุกคืบของบริษัทบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน และเป็นเรื่องจริงที่ว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่าการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายเยอะมาก ทำให้เด็กเข้าใจว่าการที่เขาสามารถซื้อได้ เพราะถูกกฎหมาย
                    “เราพยายามสื่อสารให้เด็กรับรู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ขนาดเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายยังแพร่ระบาดเร็วขนาดนี้ หากถูกกฎหมายงานใหญ่จะตกอยู่กับภาคีเครือข่ายฯ ที่ทำอาจยิ่งทำงานยากขึ้น
                    ซึ่งเครือข่ายครูและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากในการให้ความรู้ เขาคือคนที่เผชิญปัญหาเด็กในโรงเรียนเราพยายามสื่อสารให้เขารู้เท่าทันและปรับกลยุทธ์การทำงานในการสื่อสารและเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น”
ดึงอินฟลูเอนเซอร์ดัง ร่วมสื่อสารภัยบุหรี่ไฟฟ้า
                    ในด้านการสื่อสารสังคมเชิงกว้างเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ยังได้พลังหนุนที่ร่วมส่งเสียงให้สังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า จากอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง
                    เริ่มด้วย นพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด (Pulmonary and Critical Care Medicine/ Lung Transplant) ช่องยูทูป Doctor Tany @DrTany เปิดเผยจากประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นแพทย์อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
                    บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบสองส่วนหลัก ส่วนที่เป็นคอยล์โลหะถ้าร้อนเกินไปก็ระเหยเป็นไปเราสูดเข้าปอด ส่วนน้ำยานิโคติน ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงส่งผลต่อหัวใจ  ส่วนน้ำในบุหรี่ไฟฟ้า คนมักคิดว่าปลอดภัยเพราะเป็นฟู้ดเกรด แต่ที่จริงในนั้นมีสารทำละลายประมาณ 90-95% เป็นสารสองชนิด คือ โพลไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) กับเวทเจททาเบิลกลีเซอรีน (Vegetable Glycerin)
                    “สารสองตัวนี้แม้จะเป็นฟูดเกรดก็ตาม แต่เป็นสารที่ทำมาเพื่อกิน ไม่ได้ทำมาให้เหมาะสำหรับการสูดดมเข้าไป ถ้าหากกลายเป็นไอแล้วเราสูดเข้าไปจะทำให้ปอดเสียประสิทธิภาพในการขับของเสียออกมาจากร่างกายได้  ซึ่งเท่ากับกระบวนการในการจัดสารพิษของเราสูญเสีย”
                    นพ.ธนีย์ กล่าวต่อว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาหลายสิบเท่า หมายความว่าถ้าเราสูบบุหรี่ไฟฟ้าหนึ่งครั้งก็เท่ากับสูบบุหรี่ทั้งซอง
                    “ผมเคยเจอเคสมีปัญหาเขาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามา เป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปี ปอดเสียสองข้างหายใจไม่ได้ ไอซียู ผมได้รับการเรียกไปปรึกษาอยากจะปลูกถ่ายปอด เพราะรักษาอย่างไรไม่หาย ในขณะที่ทำเกิดปัญหาเต็มไปหมด เพราะภูมิคุ้มกันเขาไม่ปกติ มีภาวะติดเชื้อซ้ำซ้อน เขาบอกเสียใจมากที่ไปเชื่อเพื่อนติดบุหรี่ไฟฟ้า แต่ที่น่าเสียใจกว่าคือหลังรักษาหายแล้วเขายังกลับไปสูบอีก แล้วเกิดการต่อต้านปอดอีกหลายครั้ง สุดท้ายก็เสียชีวิต”
                    นพ.ธนีย์ ยังเผยว่าในสหรัฐอเมริกามีการเน้นย้ำในประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เลิกบุหรี่ได้
                    นพ.ธนีย์ ยังให้ข้อมูลต่อว่า ในสหรัฐอเมริกาจะยึดถือกฎหมายว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีเพื่อช่วยในการทดแทนหรือสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่มวน ดังนั้นจะต้องมีนิโคตินอย่างเดียว และมีในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรมีกลิ่นรส
                    “แต่รู้หรือไม่ครับ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าผลิตโดย เภสัชกรชาวจีน ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยให้ตัวเองหยุดสูบบุหรี่มวน แต่สุดท้ายเขาติดทั้งสองชนิดและยังคงสูบอยู่ทุกวันนี้”
                    นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 จากช่องยูทูป โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา @thaihealthylung  ร่วมสะท้อนว่า จากแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ปัจจุบันทั่วโลกมีการตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเกือบสามแสนรายงาน รวมถึงในสหรัฐอเมริกา
                    สำหรับตนเอง จากประสบการณ์ได้ให้การรักษาผู้ป่วยเป็นวัณโรคระยะลุกลาม พบมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่จะเจอโรคนี้ในคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาทิ ชุมชนแออัด ในเรือนจำ แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ แต่ยุคหลังกลับเริ่มพบในเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน วัยทำงานที่ควรมีสุขภาพแข็งแรง หรือมาจากครอบครัวที่มีสถานะภาพหรือครอบครัวระดับดีมากขึ้น
                    “ล่าสุดเราเจอในนักร้องดังระดับประเทศและลูกของบุคคลที่มีชื่อเสียง VIP จากการพยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานบกพร่องจนเป็นวัณโรคได้อย่างไร จากการซักประวัติพบเด็กหลายคนมีความเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า มีคนหนึ่งที่ทำงานในห้องตัดต่อ แม้พบว่าตัวเขาเองไม่ได้สูบ แต่ในห้องตัดต่อที่เขาทำงานมีแต่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามานานมาก เป็นต้น”
                    นพ.วินัย กล่าวต่อว่า “อีกกรณีที่พบคือภาวะปอดแตกหรือปอดรั่วในวัยรุ่น เราเริ่มเจอว่าแตกแบบไม่ทราบสาเหตุ และกรณีนี้ยังพบในสหรัฐอเมริกา สุดท้ายที่พบคือปอดอักเสบ มาแล้วเข้าไอซียู พบปอดเป็นฝ้า ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ แต่พบว่าเขาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและทำงานในร้านสนุกเกอร์”
                    ในฐานะศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ พ.ต.ต.นพ.วรพล เจริญพร จากโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าของช่องติ๊กต็อก dr.punch เผยว่า บุหรี่มวนและบุหรี่มีไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพปอดหรือทางเดินหายใจ แต่ยังมีผลต่อระบบร่างกายเราแทบทุกระบบ
                    “สำหรับหมอด้านกระดูกฯ ทุกคนถ้าเจอคนไข้มีกระดูกหัก เอ็นขาดหรือเส้นประสาทขาด แล้วมีการซ่อมแซมหรือรักษาผ่าตัด ต้องสอบถามก่อนว่าสูบบุหรี่หรือไม่ ถ้ามีจะต้องให้หยุดก่อนระหว่างการรักษา เพราะบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้รักษาหรือการเชื่อมต่อของระบบประสาทแย่ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ”
พ.ต.ต.นพ.วรพล ยังยกตัวอย่างจากเคสที่เพบเจอคนไข้กระดูกหักหรือขาหัก
                    “ถ้าไม่สูบบุหรี่ไม่เกิน 6 สัปดาห์สามารถกระดูกติดกลับไปวิ่ง แต่กรณีคนสูบบุหรี่สามเดือนยังไม่ติดเลยต้องผ่าครั้งที่สองหรือสามหรือสี่ครั้ง ซึ่งสะท้อนว่าการสูบบุหรี่มันลงไปทุกอณูของร่างกายเรา”
                    ในแง่กฎหมาย นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา, ศัลยแพทย์ระบบประสาท คลินิกแพทย์วีระพันธ์ เจ้าของช่องติ๊กต็อก dr.v official ร่วมย้ำถึงประเด็นที่หลายคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยังไม่ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจไม่บังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้อง แม้ว่าปัจจุบันมีการประกาศของกระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2557 ว่าห้ามมิให้นำเข้าทั้งบารากุ บารากุไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสารเติม แบ็ตเตอรี เข้าราชอาณาจักรไทย และมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคปี 2558 ห้ามจำหน่ายและห้ามให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า
                    การปกป้องเด็กและเยาวชนจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องรวมพลังเพื่อร่วมต่อสู้ผลักดันและช่วยกันสื่อสารกับสังคมได้รับรู้พิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป
 
Shares:
QR Code :
QR Code