พลังเยาวชน พลังสร้างสรรค์

กับมหกรรมละครภาคอีสาน

 

          เมื่อวันที่ 26-30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมากลุ่มภาคีเครือข่ายละครในภาคอีสานที่ได้รับทุนสนับสนุนยุทธศาสตร์ละครสำหรับเยาวชนปี 2 จากแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอบจ.นครราชสีมาได้ร่วมมือกันจัดมหกรรมละครภาคอีสานครั้งที่ 2 ขึ้น โดยมีกิจกรรมหลากหลายมากมายทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนจากกลุ่มละครต่างๆ ที่ร่วมโครงการร่วมกับเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ในสังกัด อบจ.นครราชสีมา ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสาธารณสุขนครราชสีมานอกจากนั้นยังมีการเสวนา และมีการแสดงละครรูปแบบต่างๆโดยเยาวชน เช่น ละครหุ่น ละครใบ้ หนังประโมทัย เป็นต้น ที่หอประชุมวัดสุทธจินดา

 พลังเยาวชน พลังสร้างสรรค์

          เยาวชนจากกลุ่มต่างๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมนั้นมีความหลากหลายทั้งที่มา อายุซึ่งมีตั้งแต่เยาวชนระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ความแตกต่างที่มีไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน แต่สิ่งที่เยาวชนสะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนคือพลังที่มีอยู่ภายในตัวตนของพวกเขา ซึ่งเป็นพลังที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ทั้งในการรู้จักยอมรับและช่วยเหลือผู้อื่น การมีจิตสาธารณะต่อสังคม มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและมีหัวใจเป็นศิลปินที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างแท้จริง

 

          พลังต่างๆ ที่กล่าวมานั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นพลังที่เกิดขึ้นได้โดยการนำกระบวนการศิลปะบูรณาการและการละครมาใช้ในการพัฒนาเยาวชน ซึ่งกลุ่มละครที่เป็นภาคีเครือข่ายนั้นเป็นกลุ่มละครที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเยาวชนมาโดยต่อเนื่องในหลายพื้นที่จังหวัดของภาคอีสาน กระบวนการทำงานของแต่ละกลุ่มล้วนมีความหลากหลายและน่าสนใจทั้งกลุ่มธรรมสังคีตซึ่งทำงานร่วมกับเยาวชนในอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เน้นการนำศิลปะแขนงต่างๆ เช่นการวาด การปั้น การปะติด มาผสมผสานกับกระบวนการละครและสร้างสรรค์ผลงานเป็นละครหุ่นเชิดเรื่ององคุลีมาลได้อย่างน่าประทับใจ สิ่งที่เด็กๆ ได้จากการทำกิจกรรมละครหุ่นองคุลีมาลนั้นมีค่ามากกว่าละครเพียงหนึ่งเรื่อง แต่พวกเขาได้เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น และรู้จักที่จะให้อภัยตนเองและผู้อื่นเมื่อทำผิดตามสาระที่แทรกอยู่ในองคุลีมาล

 

          กลุ่มละครข้าวโพดข้าวเหนียวเป็นอีกหนึ่งกลุ่มจากจังหวัดมหาสารคามที่เน้นการสร้างเครือข่ายและใช้กระบวนการละครพัฒนาทักษะผู้นำให้แก่เยาวชนเพื่อให้พวกเขาเกิดจิตสำนึกสาธารณะในการทำประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้งต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อผู้ด้อยโอกาส และต่อเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ กลุ่มป่าชุมชนอีสาน จากบ้านหนองย้อจังหวัดสุรินทร์ใช้ศิลปะและละครเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรู้จักมอบความรักให้แก่ผืนป่า เยาวชนจากกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของธรรมชาติรอบๆ ตัวและมีจิตใจอ่อนโยนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมที่เน้นการพัฒนาวัตถุเป็นสำคัญในปัจจุบัน กลุ่มบ้านชีวาศิลป์ จากม.ขอนแก่นเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้กระบวนการทางศิลปะและละครสร้างจิตอาสาให้เกิดขึ้นกับเยาวชนอาสาสมัครที่สนใจทำกิจกรรมแบ่งปันความสุขและเยียวยาความเจ็บปวดของเด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ การทำงานของชีวาศิลป์แสดงให้เห็นได้ถึงความห่วงหาอาทรระหว่างเยาวชนปกติกับเด็กที่ทุกข์ทรมานจากโรคภัยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ซึ่งพวกเขาต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญทุกวันความสุขทางใจที่พวกเขาได้รับมีคุณค่ามากยิ่งกว่าการแบ่งปันทางวัตถุใดๆ

 

          กลุ่มอัศวินสัญจรเป็นกลุ่มละครที่ทำงานในจังหวัดนครราชสีมาจากโครงการรดน้ำพรวนดินถิ่นโคราช ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นโดยพลิกฟื้น ตำนาน นิทานโคราชเพลงโคราชมาสร้างสรรค์งานละคร เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเกิดจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นคนโคราชและมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการทำงานละครเยาวชนในลักษณะดังกล่าวโดยเกิดการรวมตัวของเยาวชนเป็นกลุ่มละครหิ่งห้อยขึ้นมานับเป็นพลังสร้างสรรค์ทางบวกที่เกิดขึ้นจากเยาวชนเอง

 

          สุดท้ายสำนักงานคุมประพฤติ จ.นครราชสีมา (กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม)ร่วมกับคณะละครสองแปดใช้กระบวนการศิลปะและละครเข้ามาเยียวยากลุ่มเยาวชนที่ถูกคุมประพฤติ กระบวนการทางศิลปะที่นำมาใช้ทั้งการปั้น การอ่านบทกวีหน้ากาก การทำละครช่วยทำให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของตัวเองและรู้จักปรับตัวเพื่อที่จะก้าวเข้ามาใช้ชีวิตตามครรลองที่ถูกต้องเหมาะสมอีกครั้ง

 

          “ผมไม่คิดว่าผมจะเล่นละครได้ และผมจะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้”

 

          “เมื่อเห็นรอยยิ้ม หรือได้ยินเสียงหัวเราะจากน้องๆ ที่เราไปเล่นละครให้ดู มันเป็นเสียงสะท้อนว่าพวกเขาชอบเรา และมีความสุข มันก็พลอยทำให้เราภูมิใจในสิ่งที่ทำและมีความสุขไปด้วย”

 

          “เมื่อก่อนผมรู้สึกว่าผมเป็นคนเลว ไม่อยากออกไปไหนไม่อยากยุ่งกับใคร อายคนแต่พอเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ผมมองเห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้งและตั้งใจที่จะทำตัวให้มีประโยชน์”

 

          คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดของเยาวชนที่เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงศักยภาพของงานศิลปะและการละครที่สามารถนำมาใช้ในด้านการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม การจัดงานเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กลุ่ม/องค์กร/หน่วยงานและเยาวชนที่ใช้กระบวนการศิลปะบูรณาการและการละคร ได้นำเสนอผลงานของตัวเองต่อสังคม และแสดงให้สังคมได้เห็นว่าศิลปะสามารถสร้างคนและสร้างสังคมที่ดีงามได้ไม่แพ้ศาสตร์แขนงอื่น

 

          โปรดอย่าลืมว่าสังคมไม่สามารถดำรงอยู่อย่างสงบสุขและมีสันติได้หากมนุษย์ขาดการบ่มเพาะความดีงามให้เกิดในจิตใจ ศิลปะก็เป็นอีกทางเลือกในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามให้เกิดในจิตใจมนุษย์ได้ ดังนั้นคุณพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ในใจของคุณให้ศิลปะเข้าไปเยียวยาแล้วหรือยัง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update:03-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code