“พลังเด็กเปลี่ยนโลก” ที่อุบลราชธานี

อุบลราชธานีเคยถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่มีสถิตินักเรียนออกกลางคันมากอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนในจังหวัดอุบลราชธานีปี 2553 โดยโครงการวาระปีแห่งการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีพบว่าเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากครอบครัว ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด 3 เรื่อง ได้แก่ปัญหายาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่, ปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์และปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานปี2551 พบว่า อุบลราธานี มีจำนวนสถิติเด็กออกกลางคันสูงที่สุดถึง 113,432 คน หรือเฉลี่ย 3,000 คนต่อปีซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัญหาฐานะทางบ้านยากจน 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 5 ภาคี ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายด้านวิชาการ องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนและสภาเด็กและเยาวชน ในการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรและแกนนำด้านเด็กและเยาวชนที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนให้จังหวัดอุบลราชธานีกลายเป็นเมืองต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนภายใน 3 ปี หรือปี 2558

ความร่วมมือของ 5 ภาคีเครือข่ายที่สำคัญ ส่งผลให้ใน1 ปีแรก ก่อให้เกิดการพัฒนาฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนสภาเด็กและเยาวชนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 25 แห่งหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนพร้อมกับการเชื่อมโยงสู่ประชาคมอาเซียนในรูปแบบของสภาเยาวชนมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน

สนทยา เกาะสมบัติผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการ จ.อุบลราชธานี เล่าว่าเราต้องการให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ โดยผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุนจึงเริ่มจากม.ราชภัฎอุบลราชธานีออกไปสำรวจความเห็นของชุมชนถึงปัญหาจุดแข็งและจุดอ่อนในชุมชน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มผู้นำท้องถิ่น เช่น นายกอบต.หรือปลัดอบต. กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และกลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่จากนั้นให้ชุมชนสะท้อนข้อมูลเพื่อเกิดความเข้าใจระหว่างกันและนำข้อมูลมาสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นแผนการทำงานในกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบของจตุภาคีประกอบด้วย ภาครัฐ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เด็กและเยาวชน และเอ็นจีโอ

“ขณะนี้ได้เกิดสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบลทั้ง 25 แห่ง ทำให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนร่วมกันคิดขึ้นและสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนคือมีการกำหนดในเทศบัญญัติถึงการจัดสรรงบประมาณให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับตำบล”สนทยา กล่าว  

การก่อตัวของ สภาเด็กและเยาวชนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนให้ “เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน” ทำให้เกิดพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ขึ้นใน25 ท้องถิ่น อาทิ กิจกรรมปั้นปูนปั้นเด็กพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะของสภาเด็กและเยาวชนตำบลกุดยาลวน อ.ตระการพืชผล, กิจกรรมพี่สอนน้อง เรียนเล่นอย่างสร้างสรรค์สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลนาเยีย อ.นาเยียและกิจกรรมค่ายเยาวชนวัยใสใส่ใจภาวะผู้นำ สภาเด็กและเยาวชนตำบลคอนสายอ.ตระการพืชผล เป็นต้น

โชคอนันต์ นามบุตร หรือ ต้อมจากอดีตหัวโจกประจำหมู่บ้านสู่ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลคอนสาย เล่าว่า  เมื่อก่อนเด็กและเยาวชนในตำบลไม่ได้มีความรู้เลย และอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนสร้างความเดือดร้อนในชุมชน หลังจากมีสภาเด็กและเยาวชนเข้ามาก็สามารถเปลี่ยนศักยภาพของเด็กและเยาวชนในชุมชนให้มีความคิดต่างจากเมื่อก่อนมีความคิดเป็นผู้นำและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นซึ่งมาจากการที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของพลังเด็กและเยาวชนให้โอกาสเด็กที่เคยทำผิดพลาดได้มีโอกาสกลับตัวกลับใจ และเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนได้ร่วมกันคิดค้นกิจกรรม พร้อมสนับสนุนให้ลงมือทำอย่างที่ตั้งใจไว้

ทองคำ มีหิริ นายกอบต.คอนสาย อ.ตระการพืชผลจ.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลังจากที่ได้เห็นปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดซึ่งมีจำนวนมากเพราะเป็นเส้นทางผ่านจึงเกิดแนวคิดดึงเด็กเข้าร่วมเป็นแกนนำเยาวชนเพื่อให้เกิดต้นแบบที่ดีในพื้นที่และตนเชื่อว่าการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนมาถูกทางแล้ว และได้ใจเด็กซึ่งเด็กก็ภาคภูมิใจที่ได้รับการพัฒนาสู่โลกภายนอก

“ถนนเด็กเดิน”ยังถือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบในจังหวัดอุบลราชธานี โดยทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ณ ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี จะเกิดงานถนนเด็กเดินเพื่อเป็นเวทีปลดปล่อยศักยภาพของเด็ก และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกรักท้องถิ่นโดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ลานแสดงศิลปวัฒนธรรม อุบลแร็พ ตลาดนัดของทำมือ โดยมี 7 องค์กรในจังหวัดร่วมลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมถนนเด็กเดินอย่างต่อเนื่อง

พบกับตัวอย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 23 ในหัวข้อ จังหวัด: พื้นที่แห่งการเรียนรู้กรณีศึกษาอุบลราชธานีเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนและยโสธรจังหวัดแห่งการอ่าน วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2556 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพ ระหว่างเวลา 13.30-16.00 น. รับฟังการถ่ายทอดสดได้ที่ www.qlf.or.th  

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code