พลังสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนไทย

พ่อแม่ดูแลใกล้ชิด จะเป็นเกราะป้องกันวิกฤติการณ์ที่ถาโถมใส่เด็ก

พลังสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนไทย 

 

          การศึกษาวิจัยหลายรายงานที่เน้นให้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว โดยมีบทบาทของทั้งพ่อและแม่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่รัดตัวและภาวะการณ์ทุนนิยม ชี้ให้เห็นว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและการให้มีส่วนร่วมของพ่อแม่ในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด จะเป็นเกราะป้องกันวิกฤติการณ์ที่ถาโถมเข้าใส่เด็กและเยาวชน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประกอบกับยุคทุนนิยมทำให้เกิดการแข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันทั่ว เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กไปจนผู้ใหญ่สร้างค่านิยมใหม่และวัฒนธรรมใหม่ปลูกฝังจนเป็นนิสัย

 

การรู้จักกันลดลง การมีกิจกรรมส่วนร่วมเริ่มหายไป ครอบครัวเล็กลง เริ่มปิดกั้นสร้างรั้วให้สูงขึ้นเด็กและเยาวชนรู้จักชุมชนลดลงและชุมชนก็รู้จักเด็กและเยาวชนลดลงเช่นกัน ความห่วงใยเอื้ออาทรกำลังจะหายไป ทดแทนด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ตัวชี้วัดความสำเร็จในเด็กและเยาวชนวัดที่ความสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนเท่านั้นเพราะวัดง่ายและจับต้องได้ ทำให้เกิดความเครียดจริงจังที่จะแย่งกันเรียนทั้งปกติและเรียนพิเศษแย่งกันสอบเพื่อให้ชนะผู้อื่นได้ในสิ่งที่อื่นทำไม่ได้หรือด้อยกว่า จนแตกเป็นสองขั้วคือเด็กเรียนที่วันๆ เอาแต่เรียนจนลืมวัฒนธรรมการรู้จักพอและการรู้แพ้รู้ชนะในขณะที่เด็กอีกขั้วที่ยากแก่การที่จะเอื้อมถึงผลการเรียน ก็ปรากฏเป็นผลการกระทำที่ง่ายและได้ความสนในแทน เช่น ปัญหาวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันและนับวันช่องว่างนี้ถูกหล่อหลอมให้มากขึ้นจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หวังแต่การแก่งแย่ง แย่งกันอยู่แย่งกันใช้เช่นกัน ตัวชี้วัดที่ง่ายและจับต้องได้คือ “เงิน” ในขณะที่ผู้ที่เอื้อมไม่ถึงก็หวังโชคชะตาหรือหันมากระทำความผิดเพื่อให้ได้ “เงิน

 

          “รากฐานของปัญหาเกิดจากการมองเด็กและเยาวชนเชิงลบมากขึ้น และจิตสาธารณะของสมาชิก ครอบครัวชุมชน อ่อนแอมากขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นโดยสื่อสารเทคโนโลยี”

 

          การทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่มองปัญหาเป็นที่ตั้ง (Problembased) อย่างเดียว จะมองเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความเสี่ยงและเป็นปัญหา ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า ขาดการจัดการกับปัญหาโดยพยายามจะอึดรอยรั่วเท่าไรก็ไม่หมด มองการแก้ปัญหาต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ โดยการแก้ปัญหาจะขึ้นอยู่กับโครงการและความซับซ้อนของปัญหา เมื่อเกิดผลจากพฤติกรรมเสี่ยงจึงค่อยวางแผนการ (เสมือนวัวหายแล้วล้อมคอก) ดำเนินการได้จำกัดภายใต้งบประมาณที่ได้รับหากไม่มีงบก็ทำไม่ได้ และสื่อให้เห็นความสลับซับซ้อนของปัญหายากแก่การแก้ไข

 

          ในขณะที่การทำงานด้านเยาวชนที่มองคุณค่าเป็นที่ตั้ง (Positive Youth – Bases) จะมองเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพมาก ให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมส่วนร่วมมาก สร้างการส่งเสริมคุณภาพไว้เป็นเกราะป้องกันจากภาวะเสี่ยง สร้างการมีส่วนร่วมกิจกรรมต่อชุมชนที่ชัดเจน มองการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น สร้างทางออกที่หลากหลายแก้เยาชนในการแก้ปัญหา ดำเนินการได้ตามชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งตามทรัพยากรที่มีในพื้นที่ และสื่อให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมเด็ก เยาวชน ชุมชน และครอบครัว

 

          นพ.สุริยเดว ทรีปาตีและคณะ แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสส.) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาเครื่องมือในการหัดจับถูกเด็กและเยาวชน (Developmental Assets) เพื่อร่วมกัน สร้างพลังภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนไทยประกอบด้วย 5 พลัง กล่าวคือ พลังแต่ตัวตน พลังเพื่อนและกิจกรรม พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา และพลังชุมชน

 

          1. พลังตัวตน เป็นการร่วมกันของพลังคุณค่าในตนเอง พลังสร้างศรัทธาและความเขื่อมั่นในตนเอง และพลังทักษะในการอยู่ในสังคมอย่างสันติสุข

 

          2. พลังเพื่อนและกิจกรรม เป็นพลังการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในหมู่เพื่อนๆ และเพื่อสังคม ชุมชน

 

          3. พลังครอบครัว เป็นพลังความรัก ความเอาใจใส่ วินัยและแบบอย่าง ติดตามและช่วยเหลือที่เหมาะสมเชิงบวก

 

          4. พลังชุมชน เป็นพลังของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันด้วย ความเอื้ออาทร เข้าใจมิตรไมตรี กิจกรรมร่วมกับ มีวินัยและเป็นแบบอย่างที่ดี

 

          5. พลังสร้างปัญญา เป็นพลังความมุ่งมั่นในการเพิ่มพลังปัญญาทั้งในและนอกหลักสูตร สร้างความผูกพันกับสถาบันในทางที่ดี มีวินัยและความคาดหวังเหมาะสม

 

          ทั้ง 5 พลังนี้รวมกันเป็นพลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีกำลังใจ สู่พลังสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับภาวะเสี่ยงทางพฤติกรรมสุขภาพเพื่อความยั่งยืนต่อไป

 

          “วันนี้คุณฝึกหัดจับถูกและชื่นชมคนรอบข้างที่เป็นที่รักของคุณแล้วหรือยัง”

         

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update:30-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code