พลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย


ผมกำลังนึกสงสัยอยู่พอดีว่า บ้านเมืองจะเดินไปทางไหน ในขณะที่มีม็อบกระจายอยู่ทั่วทั้งในกรุงเทพมหานคร และตามจังหวัดต่างๆ ลำพังหากเป็นการชุมนุมที่ระบุว่าเป็นไปตามสิทธิ ภายใต้ครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นผมไม่ใคร่จะเดือดเนื้อร้อนใจเท่าไร เพราะคิดเองเออเองว่า แต่ละครย่อมมีมุมมองที่แตกต่าง และทัศนคติที่หลากหลาย จะให้นิยมชมชอบเหมือนๆ กันได้ไง


แต่ทว่า…การชุมนุมของชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วยปัญหาปากท้องหรือแสดงพลังคัดค้านการกระทำใดๆ ที่จะกระทบต่อวิถีชีวิต หรือเพื่อปกป้องทรัพยากรผืนแผ่นดินบ้านเกิดหรือที่ดินทำกินี่สิ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ


กรณีที่ชาวบ้านเรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ยึดลานพระบรมรูปทรงม้า ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ทำกินให้กับพวกเขา นับเป็นตัวอย่างชัดเจนล่าสุด ที่สะท้อนว่า ปัญหาเหล่านี้ยากที่จะหมดหรือบรรเทาเบาบางลง ตราบเท่าที่มีผู้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินขาดความใส่ใจอย่างต่อเนื่องและจริงจัง


การต่อสู้ของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาเขื่อนปากมูลเป็นเวลาหลายทศวรรษ การคัดค้านทำเหมืองทองที่จังหวัดพิจิตร การเรียกร้องขอความเป็นธรรมของชาวบ้านชุมนุมเทือกเขาบรรทัด ในกรณีถูกตั้งข้อกล่าวหาและจับดำเนินคดีในเขตอุทยานแห่งชาติและเชื่อว่าจะยังมีตามมากับกรณีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น ล้วนเป็นบริบทที่ตอกย้ำว่า…ม็อบจะอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป หากไม่มีการบูรณการสร้างความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินชี้ชะตาชีวิตของพวกเขาเอง


อย่างไรก็ตาม ความกังขาของผมที่เห็นม็อบผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยามนี้ น่าจะมีคำตอบหรือหนทางสว่างที่จะเดินออกจากวังวนได้อย่างน้อยที่สุด ตัวอย่างที่น่าชื่นชมของชุมชนบ้านอินแปง หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์การเรียนรู้อินแปง” ที่ ต.บ้านบัว อ.กุดบาก จ.สกลนคร ถือเป็นบทเรียนที่สมควรศึกษาและลอกเลี่ยนแบบ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อได้ว่า หากทุกหมู่บ้านสามัคคีเปี่ยมพลังได้แบบชาวอินแปงคงไม่ต้องมานอนกลางดินกินกลางถนน อดตาหลับขับตานอน ในฐานะม็อบเป็นแน่แท้


ความเป็นชุมชนเข้มแข็งของเครือข่ายอินแปง ทำให้วันนี้เขาได้ชื่อว่าเป็นชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของอาเซียนที่ขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ หลังจากการลงนามสัญญาซื้อขายไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมานี้


ด้วยความพร้อมใจกันปลูกดูแลรักษาป่าสักมานานกว่า 15 ปี โดยไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ชาวอินแปงจะได้เงินค่าดูแลต้นสักนี้ต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้า เพราะเข้าโครงการขายคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ


แม้การตัดต้นสักขายจะได้ราคาดีกว่า แต่ชาวอินแปงก็มองว่า การไม่ตัดแล้วยังมีรายได้ ที่สำคัญช่วยกู้โลกร้อนได้ ยิ่งเป็นมูลค่ามหาศาลกว่าตัดไม้ขายเป็นไหนๆ


ความเข้มแข็งของชุมชนจึงเป็นคำตอบสู่การปฏิรูปประเทศไทยได้ดีที่สุด


ผมค่อนข้างแน่ใจครับว่า ความฝันในการปฏิรูปจะเป็นจริงเพราะความตื่นตัวของประชาชนในการทวงสิทธิ และเสรีภาพในการมีชีวิตอย่างพอเพียงนี่แหละจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และทวงสัญญาจากรัฐ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องไม่เกี่ยวโยงกับการเมืองหรือวาระซ่อนเร้นใดๆ


ความคืบหน้าที่คุณกรรมการปฏิรูป ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ก็เป็นอีกบริบทที่สะท้อนถึงความพยายามในการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน โดยไม่ต้องเรียกร้อง ประท้วง ชุมนุมใดๆ จนเป็นเหตุให้ตกเป็น “เหยื่อ” ของผู้ไม่ปรารถนาดีเหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา อีกต่อไป


ส่วนข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมชาวบ้านที่ต้องคดีบุกรุกป่าสงวนโดยมิได้เจตนา หรือเกิดจากกระบวนการกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ การเปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดูแลพื้นที่ทำกินและสภาพแวดล้อม ทรัพยากรชุมชน ตลอดจนการปฏิรูปให้ชาวบ้านเป็น “หุ้นส่วน” กับเอกชนที่จะใช้พื้นที่ในชุมชนเพื่อธุรกิจหรือกิจการใดๆ จะได้รับความสนใจนำไปปฏิบัติ ให้เป็นรูปธรรมหรือไม่นั้นเวลาเท่านั้นจะเป็นเครือพิสูจน์ ไม่น้อยหน้าไปกว่าพลังชุมชนเข้มแข็งที่จะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนทวงสัญญากับผู้มีอำนาจรัฐต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายครับ


ผมเชียร์เต็มที่ครับ และมั่นใจว่าทำได้ ดูอย่างเครือขายอินแปง เป็นตัวอย่างสิครับ


ณ ปัจจุบัน ไม่ได้มีอินแปงเท่านั้นที่ชุมชนสามารถรวมพลังเพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคง บูรณาการคุณภาพท้องถิ่นตามวิสัยทัศน์สูความมั่นคงอย่างมีส่วนร่วม


จริงเท็จแค่ไหน ผมอยากจะเชิญชวนให้คนที่สนในในการปฏิรูปติดตามข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับงานปฏิรูปดู ไม่ต้องถึงขั้นตรวจสอบอย่างใกล้ชิดหรอกครับ เอาว่าวันไหนท้อแท้ เบื่อหน่าย ก็ลองคลิกเข้าไปดู แค่พิมพ์คำว่า “ปฏิรูป” คุณเจอความเคลื่อนไหวมากมายอันเป็นการแสดงว่า ถึงรัฐบาลเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน และคนในสังคมไทยไม่เปลี่ยน นั่นคือ มุ่งมั่นแสวงหาความดีความงดงาม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ มีจริยธรรม ในเวลาไม่นานไม่ช้า การปฏิรูปจะจริงในทุกภาคส่วนจากครอบครัวสู่ชุมชน จากชุมชนสู่โรงเรียน จากโรงเรียนไปองค์กร และสถาบัน สังคม ประเทศชาติในที่สุด โดยไม่ต้องง้อนักการเมือง ไม่ต้องแหงนคอรอความจริงใจจากรัฐบาลแล้วชุดแล้วชุดเล่าหรอกครับ


อย่างการประชุมวิชาการในหัวข้อ “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ช่วงระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. นี้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ยืนยันถึงความต่อเรื่องของคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ว่าการเมืองเรื่องร้อนๆ จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล หรือนักการเมืองไหนก็ตาม


งานนี้ประเด็นประที่สนใจ ผมเกริ่น และกล่าวว่ามาตั้งแต่ต้น นั่นคือการอภิปรายในหัวข้อ “สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยชุมชนท้องถิ่นอย่างไร” เพราะมันได้ช่วยอย่างแน่นอนสำหรับพลังชุมชนเข้มแข็ง ส่วนรายละเอียดของแต่ละความเห็นเป็นอย่างไรสัปดาห์หน้าผมจะนำมาขยายต่อแน่นอน แต่การแสดงสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในหัวข้อ “ความท้าทายใหม่ของรัฐบาลต่อการผลักดันชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ในเช้าวันพฤหัสที่ 3 มี.ค. แค่วันรุ่งขึ้น ข่าวก็ควรมีให้อ่านละเอียดยิบ….ฉะนั้นไม่ต้องรอผมนะครับ ถึงจะรักและใฝ่ฝันปฏิรูปแค่ไหนก็ตาม


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code