พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมฝีพระหัตถ์
พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมฝีพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยงานศิลปะ ด้านจิตรกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง จากตำราทางด้านศิลปะ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร งานศิลปกรรมตามหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
หลังจากที่เสด็จนิวัตประเทศไทย พระองค์จึงทรงเริ่มต้น สร้างสรรค์งานจิตรกรรมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา ทรงใช้เวลาเมื่อว่างจากพระราชภารกิจ เพื่อเขียนภาพ ภาพที่ทรงเขียนส่วนมาก จะเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์ เป็นส่วนใหญ่
ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ เริ่มเผยแพร่ให้ชื่นชมในวงกว้าง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพเข้าร่วมแสดง ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ และในครั้งต่อๆ มา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม และในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี กรมศิลปากรได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการแสดงงานศิลปะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว
ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีทั้งสิ้นกว่า ๑๐๐ ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์นั้น มีหลากหลายรูปแบบ แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) ภาพเอ็กซ์เพรสชั่นสิสต์ (Expressionism) และภาพนามธรรม (Abstractionism)
ภาพเขียนเหมือนจริงที่ทรงเขียน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ภาพเหล่านี้มีความกลมกลืน งดงามของแสงเงาอย่างนุ่มนวล ให้บรรยากาศลึกซึ้ง ชวนฝัน
ส่วนภาพเขียนแบบนามธรรม เป็นผลงานที่พระองค์ ทรงพัฒนามาจากงานเขียน ในลักษณะเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ และความรู้สึกอย่างอิสระ ปราศจากรูปทรง และเรื่องราวมีความรู้สึกจริงจัง แฝงอยู่ในผลงานที่แสดงออกด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบๆ สีสันที่ตัดกันลงตัว
ที่มา: เวปไซต์ไทยแฮนด์ดิเวิร์คส์ดอทคอม
Update: 1-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร