พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับการเกษตรและสหกรณ์
พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส
เกี่ยวกับการเกษตรและสหกรณ์
“…การอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูกก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือ เป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือ เป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้น ต้องทำการกสิกรรม…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๑
“…เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและต้องยึดอาชีพนี้มาและไม่ใช่เพราะเหตุนั่นเท่านั้นเอง แต่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใดจะอยู่ได้ก็เพราะว่ามีกสิกรรม การประกอบอาชีพ ในด้านผลิตผลที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งในด้านที่จะเป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผลไม้ หรือทำมาหากินในด้านปศุสัตว์หรือประมง…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ
ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๐
“…การกสิกรรมและอาชีพในด้านเกษตรทุกทุกอย่างย่อมต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือหลักวิชาของการเพาะปลูก เป็นต้น และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยให้เพิ่มหลักวิชาเหล่านั้น และเมื่อได้ปฏิบัติแล้วได้ผลิตผลแล้วก็จะต้องสามารถดัดแปลงและขายจำหน่ายผลิตผลที่ตนได้ทำ ฉะนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ความขยันหมั่นเพียรในการผลิต ความรู้ในวิชาการผลิตและความรู้ในการเป็นอยู่ ทั้งความรู้ในด้านจำหน่าย ล้วนเป็นความรู้ที่จะต้องประสานกันหมด…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ
ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๐
“…กสิกรรมและเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันค้นคว้าหาความรู้และความชำนาญให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเสมอ และพยายามส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษามาแก่พี่น้องกสิกร และเกษตรกร ให้ได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติอันถูกต้องตามหลักวิชาอีกด้วย จึงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านนี้ และเป็นผลดีแก่ประเทศชาติสืบไป…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕
“…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๗
“…ควรที่จะมีการแพร่ขยาย ให้ใช้ระบบสหกรณ์ขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากวิธีการสหกรณ์นั้นเอง เป็นรากฐานที่ดีของระบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ สอนให้คนรู้จักรับผิดชอบร่วมกันให้มีการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารสหกรณ์ ตลอดจนให้รู้ถึงคุณค่าของประโยชน์อันจะได้ร่วมกันเป็นส่วนรวม…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๐
“…คำว่าสหกรณ์นี้ก็เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วเดี๋ยวนี้ ว่าเป็นการร่วมแรง ร่วมกำลัง “สห” ก็ด้วยกัน “กรณ์” ก็ปฏิบัติงาน สหกรณ์มีหลายจำพวก และตามตำราก็ได้แบ่งเป็นสหกรณ์หลายชนิดแต่ละสหกรณ์จะมีประโยชน์อย่างยิ่งก็อย่างที่กล่าวมาคือสหกรณ์อเนกประสงค์ คำว่า “อเนกประสงค์” แปลว่า ไม่ใช่เอกประสงค์ เอกก็หนึ่ง ประสงค์ความต้องการหรือกิจการ อเนกก็ไม่ใช่หนึ่ง ก็หมายความว่าหลายๆ ประสงค์ ทำไม ก็เพราะว่าชีวิตคนเราจะต้องมีหลายอย่าง…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒
“…สหกรณ์ คือ การมีชีวิตร่วมกันและสร้างสรรค์ขึ้นมาสร้างสรรค์ร่วมกัน คือ สห เข้าด้วยกัน และ กรณ์ คือ การกระทำทำงานทำการสร้างชีวิตร่วมกัน เพราะคนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ต้องร่วมกัน ถ้ามีจิตใจที่จะปฏิบัติการสหกรณ์ที่แท้จริงเช่นนี้ประกอบด้วยความรู้ก็จะทำให้มีความสำเร็จแน่นอน…”
คามตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖
“…ความคิดของการสหกรณ์ ซึ่งในเมืองไทยได้ปฏิบัติมาดังนี้เป็นเวลานานแล้วเป็นร้อยปี ไม่ใช่เพิ่งได้ทำเมื่อมีคำว่าสหกรณ์เกิดขึ้น คำว่าสหกรณ์นี้นับว่าเป็นคำใหม่ แต่ว่าแบบสหกรณ์ทำมานานแล้ว ทำมาในรูปการต่างๆ ถ้ายกตัวอย่างอย่างหนึ่ง อย่างเช่น การร่วมกันสร้างฝาย…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒
“…การสหกรณ์นี้ถ้าเข้าใจดีแล้วก็เห็นได้ว่าเป็นวิธีทางเดียวที่จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้ และต้องเข้าใจว่าเป็นการสหกรณ์ที่เรียกว่าสหกรณ์แบบเสรี คือ แต่ละคนต้องมีวินัยจริง แต่ว่าไม่อยู่ในบังคับของใครเลย อยู่ในบังคับของวินัยที่ตัวเองต้องเป็นผู้รับรอง…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒
“…คำว่าสหกรณ์เป็นเพียงคำถ้าเราปฏิบัติ ก็เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราถือว่าสหกรณ์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์เฉยๆ ก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไร ฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความบริสุทธิ์ใจ และรักษาความสามัคคีโดยดี เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ดังนี้ ก็จะทำให้คำว่าสหกรณ์ศักดิ์สิทธิ์และทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความสุข…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓
“…การที่ไปกู้ยืมเขา ถ้าเอาเงินมาใช้ในทางที่ถูก สร้างสรรค์กิจการให้มีกำไรได้ ให้มีความก้าวหน้าได้ ก็ควรทำได้ โดยเฉพาะไปกู้ยืมจากธนาคารซึ่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับการเกษตรและสหกรณ์ อันนี้ก็นับว่าปลอดภัย แต่ว่าถ้ากู้ยืมไปซื้อเหล้ามาดื่ม หรือไปเล่นการพนันแล้วไปกู้ยืมเขามา ไม่มีทางที่จะใช้หนี้เขาได้ โดยเฉพาะอย่างดื่มเหล้านั้น ดื่มไปมันก็ไปแล้ว ร่างกายเราก็ทรุดโทรมก็ยิ่งทำให้เสียสองเท่า ฉะนั้นการที่จะไปกู้ยืมในฐานะบุคคลก็ตาม หรือ ในฐานะสหกรณ์ก็ตาม จะต้องคิดให้ดีว่าการกู้ยืมนั้นมีเหตุผลหรือไม่…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙
“…สหกรณ์นี่นะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ถ้าใครเข้ามาเป็นกลุ่มก็ต้องหวังดีซึ่งกันและกัน ถึงจะให้กลุ่มนั้นเจริญได้ ถ้าเข้ามาในกลุ่มเพื่อเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มีหวังล้มแน่…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๐
“…การอยู่เป็นสหกรณ์มีตัวอย่างมาแล้วในหลายประเทศและในประเทศก็มี มีตัวอย่างมาแล้วเหมือนกันว่า เริ่มต้นด้วยความลำบากยากเย็น แต่ในที่สุดมีความร่ำรวย มีเกียรติเป็นคนที่คนนับถือทั่วทั้งประเทศว่า ผู้ที่ทำกิจการสหกรณ์อย่างดีก็เป็นคนที่มีความน่าชม คือ น่านับถือ น่ายกย่อง ฉะนั้นคนไหนมีอาชีพใดและตั้งตัวขึ้นมาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความเฉลียวฉลาดเป็นคนที่น่านับถือทั้งนั้น ยกย่องได้…”
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่หัวหน้าสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร
ณ ศูนย์รวมนม สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๒
“…ขอบใจมากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบท และต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความฉลาด สามารถช่วยตนเองได้…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙
“…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมา แต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญ ต่างๆ เป็นรายได้จาก การเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้อง อาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙
“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคน อยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคน อยู่ไม่ได้…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิตาลัย
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
“…ถ้า น้ำ มีไม่พอทั้งในด้านการบริโภคหรือใช้ เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศชาติไม่มีทางที่จะเจริญได้…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในการวางแผนการใช้ที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่
ณ โรงแรมรินคำ
วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๓
“…ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนักดินจะเค็มจะเปรี้ยวจะ จืดอะไรก็ตามสามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ปีโดยใช้เทคนิค แบบโบราณคือใช้ปุ๋ยหมักหรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย มาพัฒนาดินอันนี้เป็นวิธีที่ง่าย…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส
พระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ์น
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๖
“…การปลูกป่า ไม่ควรนำเอาพื้นที่ที่ราษฎร์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว มาปลูกป่าและป่าที่ปลูกขึ้นก็ควรจะมีสภาพที่เป็นป่าอย่างแท้จริงจึงควรปลูก ไม้หลายประเภทคละกันโดยเฉพาะไม้พื้นเมืองที่เหมาะสม กับท้องถิ่นและกล้าไม้ที่จะนำไปปลูกจะต้องมีความทนทานพอ สมควร…”
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส