พยาบาลไทยน่าเห็นใจ เร่งปรับคุณภาพชีวิต
พยาบาลเป็นกำลังคนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในระบบบริการสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับบุคลากรสุขภาพอื่นๆ พยาบาลจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ขับเคลื่อนบริการสุขภาพทุกระดับทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและชนบทห่างไกล
ปัจจุบันพยาบาลไทยมีเวลาการทำงานในวิชาชีพเฉลี่ยเพียง 22.5 ปีเท่านั้น ประเทศไทยจึงตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง คือการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งจะมีพยาบาลเกษียณอายุจำนวนมากถึงประมาณปีละ 3,000-4,000 คน นอกจากนี้ ยังมีจำนวนพยาบาลไม่เพียงพอต่อการบริการตามมาตรฐาน และขาดแคลนพยาบาลที่มีทักษะวิชาชีพสูง
ดังนั้น สมาคมพยาบาลแห่งประเทศ ไทย (ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระ ศรีนครินทราบรมราชชนนี) ร่วมกับ โครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย (TNCs) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข สภาการพยาบาล และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดแถลงข่าว "ผลการวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล" ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อติดตามภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานของพยาบาล
ดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าโครงการ TNCs กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพยาบาลวิชาชีพ ทั่วประเทศ กลุ่มตัวอย่าง 18,765 คน มีปัญหาความเครียดจากการทำงานสูงถึงร้อยละ 45.5 เนื่องจากลักษณะการทำงานในลักษณะเวรผลัด ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดย 1 ใน 3 มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ และพบว่าร้อยละ 8-10 เคยใช้ยานอนหลับ ซึ่งมีผลกระทบต่อ การให้การดูแลรักษาผู้ป่วย และยังมีความเครียดจากการทำงานหนัก มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บจากการทำงาน อาทิ ถูกเข็มฉีดยา ของมีคม โรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เป็นต้น
"ผลการสำรวจของโครงการวิจัยสุขภาพ และชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 48.3 มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ เช่น ปวดหลัง นอกจากนี้ ยังเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ วัณโรคและโรคปอด และในปี 2557 มีพยาบาลเสียชีวิต 1,305 ราย ร้อยละ 39.2 ของพยาบาลที่เสียชีวิต มาจากมะเร็ง แบ่งเป็นมะเร็งเต้านม ร้อยละ 22.9 และมะเร็งรังไข่ มดลูก ปากมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ร้อยละ 18.4 ซึ่งนอกจากความเสี่ยงของ การเกิดโรคต่างๆ ทางด้านร่างกายแล้ว พยาบาลยังมีปัญหาด้านจิตใจด้วย โดยพยาบาลมากกว่าครึ่งระบุว่า ตนเองไม่สุขสบายจากอาการปวด และร้อยละ 38.3 ยอมรับว่า ตนเองวิตกกังวล และมีภาวะ ซึมเศร้า" ดร.กฤษดากล่าว
หัวหน้าโครงการ TNCs กล่าวอีกว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของพยาบาล อยู่ในระดับต่ำกว่าผู้หญิงที่ประกอบอาชีพ อื่นๆ พบว่า พยาบาลไทยอยู่ในระดับ 0.75 ซึ่งต่ำกว่าผู้หญิงไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีดัชนีอยู่ที่ 0.95 รวมถึงต่ำกว่าในประเทศอังกฤษที่อยู่ที่ 0.85 และประเทศสวีเดน ที่อยู่ที่ 0.83 พยาบาลอายุน้อยมีคุณภาพชีวิตสุขภาพต่ำกว่าระดับอาวุโส ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลให้ลาออกหรือเปลี่ยนอาชีพ เฉลี่ยอายุการทำงานในวิชาชีพเพียง 22.5 ปี
นอกจากนี้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พยาบาลไทยประมาณ 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน และตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1-2 ปี หรือมากกว่า 2 ปี มากกว่าพยาบาลที่ไม่เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อป้องกัน ลด และแก้ไขปัญหาการทำงานของพยาบาล มีดังนี้
1.ให้ความรู้ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ ตระหนักถึงภาวะคุกคามต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาอาชีวอนามัยของหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพไทย หรือเป็นส่วนหนึ่งของการปฐมนิเทศ พยาบาลวิชาชีพที่จบใหม่
2.พัฒนาแนวทางการปฏิบัติหรือคู่มือที่แสดงรายละเอียดของส่วนประกอบ การดำเนินโครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ในสถานบริการระดับต่างๆ ของประเทศไทย ครอบคลุมรายละเอียดสำคัญของภาวะคุกคามสุขภาพทุกประเภท อาทิ ความรุนแรง ความเครียดในที่ทำงาน และมลภาวะที่เป็นพิษต่างๆ
3.ส่งเสริมให้ตรวจติดตามและประเมินผลโครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ในสถานบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาล ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพให้เกิดความยั่งยืน ดูแลคุ้มครองสุขภาพพยาบาลวิชาชีพไทย
ด้าน รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ประเด็นคุกคามด้านสุขภาพของพยาบาล ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรลดลง จึงต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพยาบาล และจัดการอัตรากำลังพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบสุขภาพ เพื่อลดการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องของพยาบาล จนอาจกระทบถึงการดูแลรักษา และยังนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้การพัฒนาสุขภาพสตรีไทย และนโยบายด้านกำลังคนผู้ประกอบอาชีพพยาบาลต่อไป
"ความไม่ปลอดภัยในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ต่ำของพยาบาล จะส่งผลกระทบต่อการดูแลคนไข้ ถึงแม้พยาบาล จะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว จะพยายามผลักดันผ่านทุกช่องทาง เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพยาบาล" รศ.ดร.จินตนากล่าว
นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าวด้วยว่า จะมีการประชุมสัมมนาพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ย.นี้ เพื่อให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การแก้ปัญหา โดยจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลเป็นวาระแห่งชาติ
"หากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่มีความปลอดภัย หรือคุณภาพชีวิตไม่ดี จะส่งผลต่อการรักษากำลังคนด้านพยาบาล ให้อยู่ในระบบสาธารณสุข เสี่ยงกับการที่พยาบาลที่ยังมีอายุน้อยจะลาออกจากระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมในการทำงานปลอดภัยและ มีความสุขในการทำงาน ก็จะดึงพยาบาลไว้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐได้นาน" นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ข่าวสด โดยศิวพร อ่องศรี
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต