“พยาบาลชุมชน” ประสบการณ์ล้ำค่า

สู่ความสุขที่ยิ่งใหญ่

 “พยาบาลชุมชน” ประสบการณ์ล้ำค่า

          จิตอาสา หลายคนไม่คุ้นชินกับคำคำนี้มากนัก แต่กับบุคคลกลุ่มนี้ พวกเขากลับตระหนักและเรียนรู้กับคำคำนี้ แม้เหนื่อยยากกับการทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่เลือกหนทางนี้ก็ตาม…

 

          “…คนเราหากทำงานแล้วสนุกจะไม่รู้สึกเหนื่อย ความสนุกของตัวเอง คือ การที่เราได้ต่อจิ๊กซอว์ของคนไข้ไปเรื่อยๆ และได้เห็นภาพข้างหน้าว่า จิ๊กซอว์ต่อไปจะเป็นเช่นไร สมมติมีจิ๊กซอว์ 1,000 ชิ้น เราต่อไปแล้วกี่ชิ้น และอีกกี่ชิ้นจะเต็ม…” ถ้อยคำของ สัลมา ชูอ่อน พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี เล่าประสบการณ์การทำงานเพื่อเยียวยาชุมชน แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

          สัลมาเล่าว่า การทำงานระยะเริ่มแรกมีเพียงอยู่เวรและออกเวร ทำแบบนี้ตั้งแต่เรียนจบ จนกระทั่งปี 2545 รัฐบาลมีนโยบายให้พยาบาลวิชาชีพลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตามชุมชนต่างๆ ซึ่งต้องการคนที่พูดภาษายาวีได้ ขณะนั้นมีเพียง 3 คน แต่คนหนึ่งไม่สะดวกลงพื้นที่ จึงเหลือแค่เธอกับน้องพยาบาลอีกคน

 

          สัลมาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอไปเยี่ยมคนไข้จิตเวช เป็นน้องผู้หญิงอายุ 20 กว่าปี เดินล่อนจ้อนตามท้องถนน ญาติมารับยาเองที่โรงพยาบาลกะพ้อ เราก็บ่นว่าทำไมไม่พาคนไข้มารับยาเอง แบบนี้จัดยาไม่ถูก แต่พอได้มาบ้านคนไข้จึงทราบว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต

 

          หากไม่ลงพื้นที่ คนไข้จะไม่มีทางเดินเข้ามารักษา เรารู้ว่าคนไข้คนนี้รักสวยรักงาม ชอบแต่งตัวมาก เลยไปหาลิปสติกมาให้ และถามว่าชอบมั้ย ถ้าอยากได้จะให้ไปทาที่บ้าน แต่ต้องกินยากับพี่ก่อน เมื่อเราสร้างสัมพันธภาพน้องก็เริ่มยอมรับเราได้ การรักษาก็ง่ายขึ้น”

 

          สัลมา เล่าอีกว่า ตอนทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้ออยู่ในกรอบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก สิ้นเดือนก็มีเงินเดือนใช้ แต่พอได้ลงพื้นที่ เงินเดือนเท่าเดิม ค่าเวรไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับ คือ มีอิสระทางความคิด ไม่ถูกครอบงำ ไม่ถูกตีกรอบ  ใช้ความคิดของเราได้เต็มที่ นอกเหนือจากที่วางแผนไว้ ทุกอย่างจึงเหมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องต่อไปเรื่อยๆ

 

          ขณะที่ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า การทำงานในชุมชนทำให้หลุดจากรูปแบบการทำงานที่ตายตัว ตอนอยู่โรงพยาบาลเหมือนอยู่ในองค์กรที่เป็นแบบปรนัย ที่มีคำขวัญว่า เดินตามช่อง มองแค่ที่เห็น เน้นตัวชี้วัด วิสัยทัศน์มีไว้ท่องจำ งานที่ทำไม่มีความหมาย แต่เมื่อไปอยู่ชุมชนต้องสร้างทางเดินของตัวเอง และเมื่อไหร่ที่มนุษย์พบอิสระจากการได้คิดด้วยตัวเอง นั่นก็ถือเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่

 

          นอกจากนี้ยังมีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เสียสละเพื่อผู้ป่วย อย่าง วิมลนันท์ ทรัพย์วราชัย พยาบาลโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้แก่ผู้ป่วย

 

          วิมลนันท์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานที่โรงพยาบาลนครปฐม ยอมรับว่าเหนื่อยมาก มีใส่อารมณ์กับญาติคนไข้ และคนไข้บ้าง เพราะไม่ยอมทำตามที่เราแนะนำ แต่โชคดีที่คุณแม่คอยเตือนสติตลอดว่า ต้องขอบคุณคนไข้ เพราะหากไม่มีพวกเขาก็จะไม่มีอาชีพจนถึงทุกวันนี้

 

          วิมลนันท์เล่าต่อว่า สิ่งที่จุดประกายอันดับแรก คือ ช่วงที่ไปขอนแก่น ได้เจอผู้ป่วยคนหนึ่ง เป็นลูกจ้างร้านขายต้นไม้ อายุประมาณ 40 กว่าปี มีอาการตาเกือบบอด ช่วงนั้นมีบัตรทองแต่หาหมอไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีทะเบียนบ้าน สิทธิรักษาจึงไม่มี เขาต้องยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนใจมาก ทำให้รู้สึกว่า หากได้ทำงานชุมชนจะช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ประการสอง คือ คุณแม่บอกว่าหากรอเกษียณแล้วค่อยมาทำความดีกำลังคงไม่มี และอาจไม่มีชีวิตอยู่จนถึงเกษียณ ทำให้คิดว่า หากไม่ทำตอนนี้ก็เสียชาติเกิด ตอนนั้นจึงลาออก และไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น

 

          “ทำงานชุมชนต้องรับฟังมากขึ้น ไม่เพียงแต่การเยียวยาผู้ป่วย บางครั้งผู้ป่วยและญาติก็เยียวยาเราด้วย อย่างครอบครัวนี้ มีลูกชายอายุ 4 ขวบ ชื่อน้องกาย เราเคยพาน้องกายออกชุมชน เพราะเราคิดว่าหากทำดีให้เด็กเห็น เด็กก็จะทำดีตาม มีวันหนึ่งแม่น้องกายบอกว่า ก่อนนอนทุกคืนน้องกายจะอธิษฐานให้เรา บอกให้เราแข็งแรง ให้เรามีความสุข พอเราได้ยินเรารู้สึกดีบอกไม่ถูก ถือเป็นสิ่งเยียวยาให้เรา ให้กำลังใจเราเมื่อเราทำงานเหนื่อยๆ ได้วิมลนันท์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

          จากประสบการณ์ตรงนี้ ดร.นพ.โกมาตร ย้ำให้เห็นอีกว่า หากรอจนเกษียณก็ไม่มีแรงจะทำแล้ว ดังนั้น จงระลึกเสมอว่า ควรมี ททท. คือ ทำทันที เพราะชีวิตคนเรามันสั้น จะมัวรอทำไม

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

 

update: 16-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ