พบโฆษณาผิดกฎหมายสูง 64%

อย.มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาผ่านสื่อ ทั้งโทรทัศน์ เคเบิล และวิทยุ อยู่ที่ 1,000 รายการต่อเดือน และจากการติดตามเกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งบางผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาซ้ำๆ ฉายวนซ้ำ 50-80 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้จดจำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องช่วยดำเนินการ

ผลการศึกษาการโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านวิทยุท้องถิ่น ในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เชียงใหม่ และสงขลา พบว่ามีการโฆษณาที่ผิด พ.ร.บ.ยา 2510 สูงถึงร้อยละ 64 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร 2522 ถึงร้อยละ 95.2 และเมื่อพิจารณาเนื้อหาโฆษณาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค พบว่าโฆษณายามีสูงถึงร้อยละ 55.9 ส่วนโฆษณาอาหารสูงถึงร้อยละ 74.5

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังพบว่า เป็นกลุ่มที่มีการโฆษณาในอินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยรูปแบบการโฆษณาส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.5 เป็นการกล่าวอ้างรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเทอร์เน็ต ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2553-ก.ย. 2554 พบว่ามีการเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการโฆษณาผิดกฎหมาย และไม่ถูกต้อง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นอาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เป็นต้น        

นอกจากนี้ ยังมีตรวจจับคดีโฆษณาสรรพคุณผลิตเสริมอาหารเกินจริงทางอินเทอร์เน็ต จากเดิม 160 คดี ในปี 2551 เป็น 237 คดี ในปี 2554 และตั้งแต่เดือน ม.ค. 2552-ก.ค. 2553 อย.ได้ปิดเว็บไซต์ที่มีโฆษณาเกินจริง 62 เว็บไซต์ และปิดเว็บบอร์ด 155 เว็บไซต์

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code