พบเด็กไทยต่ำกว่า 5 ขวบ ขาดสารอาหารเรื้อรัง
พบอัตราเด็กไทยขาดสารอาหารที่สุดในภาคอีสาน โดยมีภาวะเตี้ยแคระเกร็น
ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 หรือ Thailand Multiple Indicator Cluster Survey – MICS 2012 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโภชนาการของเด็กในประเทศไทย โดยพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถึงร้อยละ 16 ขาดสารอาหารเรื้อรัง คือ มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น (หมายถึงการมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์) อัตรานี้พบมากที่สุดในภาคอีสาน (18.9%) รองลงมาคือ ภาคใต้ (16.7%) และยังพบด้วยว่าเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษาจะประสบปัญหานี้มากกว่าเด็กที่แม่มีการศึกษา
ภาวะแคระแกร็นและการขาดโภชนาการที่ดีของเด็กในประเทศไทยเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะทำให้สมองของเด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลเสียระยะยาวในด้านต่างๆ ของชีวิต เช่น ด้านผลการเรียน และรายได้ในอนาคตของเด็ก นอกจากนี้ ยังลดทอนโอกาสการมีชีวิตรอดของเด็ก และกีดขวางการเจริญเติบโตทางสุขภาพอย่างเหมาะสม
การลดระดับภาวะแคระแกร็นและปัญหาโภชนาการของเด็กสามารถทำได้โดยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับปรุงโภชนาการของสตรี โดยเฉพาะก่อน ระหว่าง และหลังการตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต การให้อาหารเสริมที่มีคุณภาพและสารอาหารรองในเวลาที่ปลอดภัยและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลามีความสำคัญมาก การดำเนินการต่างๆ ควรมุ่งเน้นไปที่ช่วงเวลาการตั้งครรภ์และช่วงสองขวบปีแรกของเด็ก (หรือประมาณ 1,000 วัน)
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต