พบเด็กเกิดใหม่ป่วยธาลัสซีเมียปีละ 1.2 หมื่นคน

สธ.เผยพบเด็กเกิดใหม่ป่วยธาลัสซีเมียปีละ 1.2 หมื่นคน ระบุการรักษาสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก

พบเด็กเกิดใหม่ป่วยธาลัสซีเมียปีละ1.2หมื่นคน

นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียมีทั้งผู้ที่เป็นโรค และไม่เป็น โรค หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะ โดยผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกัน ส่วนผู้ที่เป็นพาหะจะมีสุขภาพปกติเหมือนคนทั่วไป ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียทั่วประเทศประมาณ 6 แสนคน และมีผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 18-24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30-40 และในแต่ละปีมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณ 5 หมื่นครรภ์ และมีเด็กเกิดใหม่ เป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้นประมาณ 12,125 คน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 5-6 พันล้านบาท

สำหรับการรักษาสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยการรักษาโดยทั่วไป จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ ทำให้ผู้ป่วยได้รับทุกขเวทนาทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก

นพ.สมชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันหาแนวทางป้องกัน และมีความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าวมาก อย่างไรก็ตาม การป้องกันควบคุมวิธีที่ดีที่สุดนั้น จะต้องให้มีการกระจาย องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย ไปสู่บุคลากรในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามสถานีอนามัยทุกตำบล และเจ้าหน้าที่อนามัยเป็น ผู้ถ่ายทอดความรู้สู่ อสม. ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน รวมไปถึงการตรวจหาพาหะของโรคทั้งพ่อและแม่

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code