พบเด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าเพิ่มขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
พบเด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าเพิ่มขึ้น ชู “ห้องสนูซีเล็น” กระตุ้นประสาทสัมผัส แนะบำบัด-รักษาแบบบูรณาการ
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก เปิดเผยว่า สถิติการให้บริการของศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ของ รพ.เด็ก พบว่าการให้การดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าและปัญหาพฤติกรรม มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวนเด็กมารับบริการ 10,485 ราย แต่ในปี 2560 เพิ่มเป็น 16,000 ราย โดยสถิติเด็กที่มารับการบริการแยกตามโรค กลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอาการออทิสติก เด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนและเด็กสมาธิสั้น กลุ่มอาการดาวน์ เด็กสมองพิการ เป็นต้น แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการดูแลเด็กที่มีภาวะออทิสติก เช่น ที่ศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ได้เปิดให้บริการห้องการบำบัดแบบบูรณาการ ซึ่งช่วยปรับประสาทสัมผัสที่สมดุลในออทิสติก โดยจะดูแลเด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาการดูแลรักษาและการฝึกพัฒนาการ โดยใช้ห้องสนูซีเล็น (Snoezelen Room) ที่ช่วยผ่อนคลาย ร่วมกับการรักษา
ผศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญดังกล่าวมีภารกิจในการฝึกอบรมกุมารแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการพฤติกรรมเด็ก และบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ การให้บริการและการวิจัย สำหรับศูนย์ดังกล่าว ได้ทำการพัฒนาการดูแลรักษาและการฝึกพัฒนาการด้วยรูปแบบที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับ โดยการจัดห้องสนูซีเล็น และใช้อุปกรณ์ตามเทคนิคพิเศษเพื่อให้การบริการในการบำบัดเด็กออทิสติกแบบองค์รวม โดยจะทำการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ในแนวทางการบูรณาการ การรับความรู้สึก ซึ่งเป็นการรักษาตามมาตรฐานสากล
ผศ.พญ.อดิศร์สุดา กล่าวต่อว่า การที่เด็กได้รับการบำบัดรักษาแบบองค์รวม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีกับกลุ่มเด็กออทิสติกและเด็กพิเศษอื่นๆ เพราะบางรายมีปัญหาในด้านสติปัญญา ดังนั้น การใช้เทคนิค มาตรฐานแนวใหม่ จะช่วยฟื้นฟูสมองและระบบประสาทต่างๆในการจัดหรือสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการบำบัดรักษาแบบบูรณาการ ซึ่งช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการรับความรู้สึกพื้นฐานต่างๆ เช่น การมองเห็น การรับรส การได้กลิ่น การเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งการกระตุ้นประสาทการรับความรู้สึกต่างๆทำให้เกิดการตื่นตัวและผ่อนคลาย ทำให้เด็กมีพัฒนาการและการตอบสนองของร่างกายดีขึ้น