พบพัฒนาการเด็กล่าช้า
กรมสุขภาพจิตทำคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปีแจกพ่อแม่ หลังพบเด็ก 30% มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เหตุขาดการดูแล ไม่มีการประเมิน และเข้าถึงบริการน้อย แนะพ่อแม่สังเกตพัฒนาการแต่ละช่วงวัย หากผิดปกติให้รีบกระตุ้นทันที ชี้รู้และรักษาเร็วช่วยให้เป็นปกติหายได้
วันที่ 9 ส.ค. เมื่อเวลา 10.30 น. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาเด็กบกพร่องทางพัฒนาการของไทยในปัจจุบันพบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้าเฉลี่ย 240,000 คนต่อปี จากการสำรวจพบว่า เด็กร้อยละ 30 จะมีปัญหาการพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งล่าช้า และในจำนวนนี้ร้อยละ 5 มักเป็นเด็กออทิสติก
โดยปัจจัยสำคัญคือ การขาดการดูแลตั้งแต่วัยแรกเกิด – 5 ปี อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ พฤติกรรม และอารมณ์ของไทยยังมีน้อย โดยเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาเข้าถึงเพียง 33,592 คน หรือประมาณ 5.23% เป็นเด็กออทิสติก 7,212 คน หรือประมาณ 12.02% ของประชากรเด็ก ดังนั้น การค้นหา การช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและการดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ในการค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยง กรมสุขภาพจิตได้ทำคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปีสำหรับผู้ปกครองขึ้น ซึ่งมีการตีพิมพ์และแจกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว โดยจะส่งไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศแห่งละ 30 เล่ม โดยคู่มือดังกล่าวจะมีระบุถึงการพัฒนาการของเด็กออก 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 2.ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 3.ด้านการเข้าใจภาษา และ 4.ด้านการช่วยเหลือและสังคม ซึ่งในแต่ละด้านจะมีการให้คำแนะนำการกระตุ้นพัฒนาการแต่ละช่วงวัย เช่น อายุ 5-6 เดือน อายุ 7-9 เดือน เป็นต้น โดยช่วงอายุที่สำคัญคือช่วง 9 เดือน ต้องดูพัฒนาการของลูกแล้วว่าล่าช้าหรือไม่ เช่น วัย 1 เดือนสามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะและหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งได้หรือไม่ พูดได้ช้ากว่าปกติ ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ซนเกินไป ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ทำลายข้าวของ เป็นต้น หากผิดปกติให้ลองกระตุ้นลูกตามคำแนะนำในคู่มือก่อน หากพัฒนาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์ หลังจากนั้นให้สังเกตอีกครั้งตอนช่วงอายุ 18 เดือน และ 36 เดือน
“การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยก็เหมือนการทำการบ้านที่จะต้องทำไปทีละระดับขั้นตอน หากเด็กมีพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งล่าช้าแล้วปล่อยไว้ไม่มีการกระตุ้น หากจะกลับมากระตุ้นภายหลังจะเป็นเรื่องยาก เพราะสมองเดินไปข้างหน้าแล้ว ทั้งนี้ เด็กมีความสามารถในเรื่องการพัฒนาสมอง หากพบว่าผิดปกติและทำการกระตุ้นแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยให้เด็กกลับมาเป็นปกติได้” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า สำหรับในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กจะได้รับการเฝ้าระวังด้านพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ โดยครูศูนย์เด็กเล็กจะประเมินพัฒนาการเด็กภาคเรียนละ 1 ครั้ง และประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (eq) เด็กปีละ 1 ครั้ง ถ้าเด็กมีปัญหาพัฒนาการก็จะส่งต่อหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระบบต่อไป ส่วนครูศูนย์เด็กเล็กจะมีการประเมินความเครียดด้วยตนเองปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูให้มีความเข้าใจการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี ได้รับการตรวจประเมินและส่งเสริมพัฒนาการตามวัยอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยหรือมีความเสี่ยงต่อปัญหา eq ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์