พบข่าวปลอม “ไวรัสโคโรน่า” แนะตรวจสอบก่อนแชร์

ที่มา : กรมสุขภาพจิต


พบข่าวปลอม


แฟ้มภาพ


ห่วงพบข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในโซเชียลจำนวนมาก ยิ่งทำคนตื่นตระหนก แนะเสพข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เปรียบเทียบข้อมูลกับแหล่งอื่น ไม่แชร์ต่อข้อความที่ดูเกินจริง สอบถามข้อมูลจากผู้รู้ หรือสายด่วน 1422 ย้ำตระหนักแต่ไม่ตระหนก


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความวิตกกังวลของคนไทยต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ขณะนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลังปฎิบัติงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยและเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา สธ.ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส ทั้งยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในศักยภาพการควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ


นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้ทำการติดตามและประเมินข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย พบข้อมูลที่จัดอยู่ในประเภทข่าวลือและข่าวปลอมได้รับการเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ทั้งข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดภายในประเทศ และข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีการรักษารูปแบบต่างๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากคำแนะนำที่ถูกต้องของผู้เชี่ยวชาญ โดยการกระจายตัวของข่าวลือและข่าวปลอมในวงกว้างลักษณะนี้จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถปฎิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดความกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง และเบียดบังพื้นที่การนำเสนอข่าวจริงที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองของประชาชน


"ประชาชนต้องใช้วิจารณญานทุกครั้งในการเสพข่าวต่างๆ โดยเฉพาะบนโลกโซเชียลที่บางครั้งไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของข่าวได้ชัดเจน พิจารณาความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้งานที่เผยแพร่ข่าวนั้น พิจารณาเนื้อหาของข่าวอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเปรียบเทียบเนื้อหากับข่าวจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ ไม่อ่านเฉพาะเพียงพาดหัวข่าว ตรวจสอบแหล่งข่าวที่ถูกอ้างถึง และสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจและสามารถยืนยันเนื้อหาที่ปรากฎในข่าวได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขอย้ำแนวทาง ตระหนักแต่ไม่ตระหนก คือ ประชาชนต้องตระหนักถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา โดยหมั่นล้างมือให้สะอาด ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการ ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนเสมอ สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม แต่ไม่ตระหนกจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ลดการเสพข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนก ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขทางช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด 

Shares:
QR Code :
QR Code