‘พงสะตือ’ ชุมชนต้นแบบคนภาคเหนือ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
ดูเผินๆ บ้านพงสะตือ หมู่ 6 ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ อาจจะเหมือนชุมชนหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั่วไปอยู่กับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ในทางกลับกัน พบว่าภายในชุมชนต้องรับมือกับแมลงวันที่มาจากฟาร์มไก่ในชุมชนถึง 5 แห่ง ปัญหาขยะ การใช้สารเคมีในการทำเกษตร และพฤติกรรมการบริโภคทำให้ชาวบ้านเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
สภาผู้นำชุมชนที่เกิดจากจิตอาสาได้รวบรวมปัญหาดังกล่าวและลุกขึ้นมาแก้ไข ผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่ไล่ปัญหาดังกล่าวออกจากชุมชน ใช้สารชีวภาพลดปัญหาแมลงวัน โดยชาวบ้านได้เรียนรู้จาก ม.แม่โจ้ ในการใช้สารชีวภาพไล่แมลงวัน ประกอบด้วย น้ำส้มสายชู สุราขาว 28 ดีกรี อีเอ็มสูตรขยาย กากน้ำตาล ในสัดส่วนอย่างละ 1 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตรนำไปฉีดพ่นตามกองขยะ จะช่วยลดปริมาณของไข่แมลงวัน ซึ่งก่อนหน้าสภาผู้นำชุมชนขอคุยกับผู้ประกอบการฟาร์มไก่ นายอำเภอ เพื่อหาทางออกร่วมกัน หลังต้องเผชิญปัญหาเรื่องแมลงวันอยู่ 2 ปี ขณะเดียวกันชุมชนร่วมด้วยช่วยกันคัดแยกขยะ
โครงการลดใช้สารเคมี เป็นความพยายามที่จะเดินหน้าผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน นายสมรส มั่นกำเนิด ผู้ใหญ่บ้านพงสะตือ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่การเกษตร 4,500 ไร่ ใช้สารเคมี 80% ชาวบ้านมีอาชีพทำนา และปลูกกระเทียมนอกฤดูทำนา เก็บข้อมูลพบว่ามีรายจ่ายเพื่อสารเคมีปีละ 107,515 บาทต่อครัวเรือน พบปัญหาดินเสื่อม 3,500 ไร่ ขณะที่ครัวเรือนมีหนี้สิน เฉลี่ย -30,000 บาทต่อปี
ข้อมูลเหล่านี้นำมาซึ่งการตั้งธงในการแก้ปัญหาร่วมกัน ชุมชนพร้อมใจกันปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองทั้งหมด 110 ครัวเรือน จากทั้งหมด 191 ครัวเรือน และขยายไปสู่กลุ่มปลูกกระเทียมปลอดสารใน 89 ครัวเรือน ลดรายจ่ายการใช้สารเคมีถึง 36,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยจากการปลูกกระเทียมปีละ 5 แสนบาท
สุกัญญา แก้วน้ำเพชร เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม เล่าว่า กระเทียมที่ไม่ใช้สารเคมีจะเก็บไว้ได้เป็นปี และไม่ฝ่อ กระเทียมที่นี่ขึ้นชื่อเรียกว่ากระเทียมแก้ว กลีบจะใหญ่มีกลิ่นฉุน เคยนำพันธุ์ไปปลูกยังพื้นที่อื่น ไม่ได้ผลผลิตออกมาเหมือนที่นี่ ซึ่งจะปลูกในช่วงฤดูหนาว เก็บผลผลิตได้ในช่วง ก.พ.
"จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่แต่ส่วนใหญ่จะไม่ขายหมด เพราะต้องเก็บไว้ทำพันธุ์ในปีถัดไป ที่เห็นแขวนไว้ใต้ถุนบ้านตอนนี้เขาจะไม่ขายกันเพราะต้องเก็บไว้ทำพันธุ์" เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบอกเล่า
ชาวบ้านได้ตระหนักรู้ถึงโรคภัยที่มาจากอาหารการกิน ขณะเดียวการปลูกผักยังสร้างรายได้ โดยขยายพื้นที่ปลูกผักมาในแปลงผักโรงเรียนบ้านพงสะตือ ปลูกฝังให้เด็กบริโภค หยิบยกเมนูอาหารพื้นถิ่นของคนลาวเวียงซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นมาทำกินในงานสำคัญ เมนูยำหยวก แกงหยวกโบราณ ที่สืบทอดกันมาว่าปีหนึ่งต้องกินหยวกอย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อล้างสำไส้
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนกลไกสภาผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ บ้านพงสะตือ และหมู่บ้านต้นขาม จ.อุตรดิตถ์ ยกให้เป็นต้นแบบของชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืนในภาคเหนือ
นางเข็มเพ็ชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า เป้าหมายและภารกิจของ สสส. คือการกระจายโอกาสการทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สสส. ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะเรื่องเงินเท่านั้นแต่ยังเสริมพลังของชุมชนให้ความสำคัญ ของการพัฒนาศักยภาพภาคี โดย สสส. ขับเคลื่อนให้มีหน่วยจัดการ (Node) ในการพัฒนาศักยภาพให้แก่โครงการย่อย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะ ที่ 6 สสส. เล่าถึงโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุบ้านต้นขาม ต.ชัยจุมพล อ.ลับแล ว่า ที่นี่มีผู้สูงอายุ 161 คน ติดบ้าน 11 คน และติดเตียง 2 คน การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ ทำงานโดยหน่วยจัดการ (Node) จัดให้มีกิจกรรมทางกาย อาทิ รำไม้พลอง รำวงย้อนยุค นั่งสมาธิ ทุกวันพระลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง
ทั้งชุมชนบ้านพงสะตือ และบ้านต้นขาม มีศักยภาพสร้างสภาพแวดล้อม เอื้อต่อสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคม