ฝึกนักเรียนแนวใหม่ ประดิษฐ์ของเหลือใช้ ‘ได้สมาธิ’
ครูชัยภูมิฝึกนักเรียนแนวใหม่ ประดิษฐ์ของเหลือใช้ได้สมาธิ
ครูประภาภรณ์ สงคราม แห่งโรงเรียนวังใหม่พัฒนา ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่าว่าการสร้างสมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ การพูด การหายใจ การนั่ง การยืน การทำกิจกรรมทุกอย่างสมาธิได้หมด อยู่ที่ว่าจะนำมาใช้อย่างไร จึงได้คิดโครงงาน “ประดิษฐ์จิตสร้างสมาธิ” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมทักษะชีวิต ระดับมัธมศึกษา ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสมาคมแห่งการเรียนรู้เละคุณภาพเยาวชน (สสค.)
โครงการนี้ ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่ การประดิษฐ์ดอกไม้โปรยทานโคมไฟ ดอกไม้ใยบัว ถักโครเซต์ และดอกไม้จากเศษวัสดุ สำหรับเด็กมัธยมต้น ทั้งหมดจำนวน 93 คน โดยใช้เวลาทุกเช้า 15 นาที ก่อนเคารพธงชาติ ในการทำงานประดิษฐ์ของตัวเอง
คุณครูเจ้าของความคิดเล่าว่า นักเรียนทุกคนต้องมีงานประดิษฐ์เป็นของตัวเอง โดยแต่ละเดือนจะให้เด็กทำงานประดิษฐ์ที่เราตั้งเลือกไว้ให้แบบเดียวกันหมด เช่นเดือนนี้ทำโคมไฟ ก็จะให้เด็กทำโคมไฟทั้งหมด ส่วนรูปแบบและลวดลายนั้นเด็กสามารถออกแบบได้เอง งานประดิษฐ์บางชิ้นที่ทำร่วมกันเด็กก็จะแบ่งหน้าที่กันทำก่อนจะนำมาประกอบด้วยกัน
“การทำสมาธิไม่ใช่ว่าเราจะได้ผลปุ๊บปั๊บต้องใช้เวลาจนเกิดความเป็นสมาธิ ตั้งใจทำงานและอย่างน้อยก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้น เพราะเด็กรู้จักระบบระเบียบการทำงานเด็กเกเรบางคนคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ พอลงมาทำก็ทำได้ เด็กผู้ชายบางคนถักโครเซต์ งานประณีตกว่าเด็กผู้หญิงเสียอีก บางครั้งก็ต้องลงมือทำก่อน ชอบไม่ชอบค่อยว่ากันอีก และยังเห็นว่างานประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิชาการงานอาชีพ และงานประดิษฐ์สามารถทำเป็นอาชีพได้ เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เด็กสามารถประดิษฐ์ผลงานแล้วนำไปขายให้กับนักท่องเที่นยว เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และยังเกิดรายได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังแนะนำการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน”
“แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลสำเร็จทางวิชาการเนื่องจากทำสมาธิค่อนข้างจะชี้วัดยาก เช่นเดียวกับงานศิลปะที่ไม่สามารถชี้วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ผลทางนามธรรมที่จับต้องไม่ได้หรือไม่อเจชี้วัดได้ย่อมเกิดขึ้น ทั้งทักษะด้านอาชีพ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความตั้งใจมากขึ้น ไม่เพียงแค่การทำงานประดิษฐ์เท่านั้น ยังรวมไปถึงการตั้งใจเรียน การตั้งใจสอบ เหล่านี้เป็นผลพลอยได้ทั้งสิ้น และที่สำคัญช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักนำสิ่งของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนภาษาอังกฤษ เด็กก็จะมีการค้นหาคำเขียน คำอ่าน หรือคำแปล จากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานประดิษฐ์ ส่วนวิชาคณิตก็อ้างอิงเรื่องของอัตราส่วนการทำงานประดิษฐ์ได้เช่นกัน” ครูประภาภรณ์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์