ผ่าทางตันชนชายขอบเข้าถึงการรักษา

เผยวิกฤตถูกสารพัดโรครุมเร้า

 

สปสช. จับมือ สสส. สมช. สภาทนายความ ผ่าทางตันระบบเข้าถึงการรักษาพยาบาลของบุคคลไร้สัญชาติ หนุนมติครม.รองรับการเข้าถึง เผยวิกฤตโรคชายแดนรุม ปี 52 จ.ตาก ป่วยมาลาเรียกว่า 1 หมื่นราย พ่วงโรคไข้ทัยฟอยด์-ไข้เอนเทอริคสูงสุดในประเทศ ขณะที่กลุ่มชาวเผ่าเสนอตั้งคณะกรรมการ ดึงภาคประชาชนร่วมออกแบบแนวทางรองรับ เหตุรู้ปัญหาในพื้นที่โดยตรง

 

ผ่าทางตันชนชายขอบเข้าถึงการรักษา

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาทนายความ และเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ร่วมจัดงานเสวนาเรื่อง หนทางสู่การให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ

 

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ตัวแทนสภาทนายความ กล่าวว่า  การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนตามแนวชายแดนจำนวน 475,409 คน ถือเป็นความคืบหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม  เนื่องจากในมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ที่ได้รับการดูแล ถือเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มคนตามแนวชายแดนเท่านั้น ยังเหลืออีก 2 ใน 3 ที่ยังเป็นภาระของโรงพยาบาลอยู่ จึงยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ แต่ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดูแลสุขภาพของกลุ่มคนที่อยู่ในแนวชายแดน ดังนั้นจึงอยู่ที่การบริหารจัดการกองทุนในปีถัดไปเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่ยั่งยืน เพราะคนเหล่านี้ ถือเป็นผู้ที่เสียภาษีให้รัฐทุกปี รัฐจึงควรให้การดูแล 

 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน กล่าวว่า เข้าใจว่ามติคณะรัฐมนตรียังติดปัญหาหากให้หลักประกันสุขภาพแก่บุคคลที่อยู่ตามแนวชายแดน เพราะตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ระบุไว้ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงตั้งงบประมาณไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือโดยตรงไปก่อน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานโดยดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ และเกิดการจัดสรรงบตามสภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด และเพื่อไม่ให้กระทรวงต้องแบกรับภาระงบประมาณในส่วนนี้ไว้ในอนาคต จำเป็นต้องเร่งพิสูจน์สัญชาตบุคคลจำนวน 4.7 แสนคน เพื่อให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพตามปกติ ทั้งนี้หลัง 1 เมษายน ที่เปิดให้ผู้ที่อยู่ในแนวชายแดนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้นั้นเชื่อว่า ในสถานบริการบางแห่งที่ยังมีการเก็บเงินอยู่ อาจต้องใช้วิธีขอดูบัตร แล้วไม่เรียกเก็บเงิน เพื่อสามารถเข้าถึงบริการได้เหมือนคนไทยคนอื่นๆ

 

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์สุขภาพของบุคคลไร้สัญชาติ ตามจังหวัดชายแดน จากข้อมูลสำนักระบาด กรมควบคุมโรค ในปี 2552 พบว่า จ.ตาก มีอัตราการป่วยของโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคในพื้นที่ชายแดนมากที่สุดในประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 10,057 ราย มีอัตราป่วย 1,881 คนต่อแสนประชากร คิดเป็น 40% ของผู้ป่วยมาลาเรียทั้งประเทศ รองลงมาคือ จ.แม่ฮ่องสอนและระนอง อัตราป่วย 654 และ 516 คนต่อแสนประชากร การรักษาต้องให้ยาฆ่าเชื้อในกระแสเลือดกับผู้ป่วยโดยเร็ว จึงจะได้ผลต่อการควบคุมการระบาดของโรค และยังพบว่า มีอันตราการป่วยของโรคไข้ทัยฟอยด์ และไข้เอนเทอริคสูงที่สุดในประเทศ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการแบกแยกการรักษาตามเดิม จะไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่ต้องเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษา

 

นายสรวิชญ์ แชกอ ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ผ่านมา คือ 1. การเดินทางเข้ารับการรักษาที่ต้องขออนุญาตจากอำเภอก่อน 2. ภาษาและการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน และ 3. การถูกเลือกปฏิบัติหรือการถูกปฏิเสธให้การรักษา ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ไปสถานบริการสุขภาพ มติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการเปิดกว้างให้พวกตนที่เป็นชนเผ่าตามแนวชายแดนได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ตนอยากเสนอให้มีการจัดการที่ชัดเจนในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเช่นเดียวกับรูปแบบของ สปสช. ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนในภาคต่างๆ เข้าร่วม เพราะรู้ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนในพื้นที่โดยตรง และควรมีรูปแบบการเข้าถึงบริการให้สะดวกแก่ผู้รับบริการ รวมถึงล่ามภาษาตามโรงพยาบาลอำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหาการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update 24-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code