“ผู้เชี่ยวชาญชีวิต(สูงวัย)” อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี-สุขภาวะดี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
ปี 2562 เป็นปีแรกที่ประเทศไทย มีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็กและจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรสูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุไทยกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และด้านสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาผู้สูงอายุทุกภาคส่วน จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยได้จัดเสวนาสะท้อน "สถานการณ์นโยบาย ทิศทาง และบทเรียนการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ" โดยเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลง ลดมายาคติที่มองผู้สูงอายุ ว่าเป็นภาระ ให้เปลี่ยนมาเป็นการมองผู้สูงอายุ ในฐานะพลังของสังคม
นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เล่าถึงศักยภาพและพลังผู้สูงอายุ ความต้องการหนุนเสริมจากภาครัฐ ว่าการทำให้ศักยภาพและพลังผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้นั้นมี 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.ต้องมีสุขภาพที่ดี เพราะการมีสุขภาพที่ดีหมายถึงแก่ช้าลง 2.ต้องมีรายได้ ซึ่งถ้ามีรายได้จะทำอะไรก็ได้ และ 3.ต้องมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตนเอง ช่วยเหลือผู้อื่นได้ ดังนั้น การส่งเสริมศักยภาพและพลังผู้สูงอายุ ต้องมีชมรม มีโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างเสริมพลังผู้สูงอายุได้ดีมาก
โดยขณะนี้ทางสมาคมได้มีการจัดตั้งชมรมและโรงเรียนผู้สูงอายุใน 22 จังหวัด เพื่อเป็นชมรม โรงเรียนต้นแบบ และจะขยาย เครือข่ายไปทุกจังหวัด โดยการตั้งชมรม ผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นการทำงานร่วมกับภาคีแบบบูรณาการร่วมกัน ซึ่งผลจาก การที่ผู้สูงอายุเข้าชมรมชัดเจนว่าพวกเขามีความสุข รู้สึกมีคุณค่า จึงอยากให้ภาครัฐ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมมีส่วนร่วมกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาตนเอง จะทำให้ไม่เหงาไม่รู้สึก โดดเดี่ยว เพื่อทำให้เป็นผู้สูงอายุมีความสุข มีสุขภาวะที่ดี และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
"ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในโลก อดีตเรามีผู้สูงอายุประมาณ 10.2% แต่ผ่านไปไม่นาน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมา 18% และใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ก็มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็น ที่ต้องมีแผนรองรับ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุ อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีสุขภาวะที่ดี มีความสุข สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระ ผู้อื่น ซึ่งภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ทำกิจกรรม มีรายได้ มีอาชีพ เพราะผู้สูงอายุเพิ่มแต่อายุ พวกเขายังมีพลัง อย่าปล่อยให้โดดเดี่ยว เหงาหรือเฉาไป" นพ.พงษ์ศิริ เล่า
ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์พิเศษ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่น่าจะเป็นคนเจน Y หรือผู้ที่เกิดในยุคที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต มีการระบุปีเกิดของคนรุ่นนี้หลากหลายมาก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่าเกิดระหว่างปี 2524-2543 ซึ่งในอีก 18 ปีข้างหน้าหรือปี 2580 คนเจน Y จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลก การเคลื่อนไหวของสังคม การดำรงชีวิต การสื่อสารทุกอย่างจะเป็นแบบเรียลไทม์ ทุกอย่างจะใช้สื่อเทคโนโลยี
คนกลุ่มนี้เขามองว่าถ้าตัวเองอายุ 60 ปีก็ยังไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ อาจจะให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวน้อยลง จะมุ่งการใช้ชีวิต การทำงานเพื่อตนเอง และคนกลุ่มนี้ต่อให้อายุมากขึ้น เขาก็จะใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา เพราะจะมองว่าตัวเองอายุยืนยาวมากขึ้น ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะมีวิธีดูแลอาจเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมาหาไม่ได้แต่จะใช้เทคโนโลยีในวิธีการสื่อสาร ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคนเจน Y มีความกตัญญูในการดูแลพ่อแม่ ผู้สูงอายุในบ้าน แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ต้องมีการศึกษามุมมองของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เตรียมวางแผนเพื่อตัวเอง
วีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดูแลผู้สูงอายุในหลายมิติ ซึ่งในส่วนของมิติด้านสุขภาพ ได้ส่งเสริม ป้องกันให้มีสุขภาพดี โดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น 1-2 ปีที่ผ่านมามีการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลให้สิทธิผู้สูงอายุทุกคน โดยกฎหมายปลดล็อกทุกอย่าง
นอกจากนั้นยังมีกองทุนต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น กองทุนตำบล ที่สามารถรับเงินจากภาครัฐไปดูแลผู้สูงอายุได้ สปสช.ได้ดำเนินการแก้ระบบระเบียบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น จึงอยากฝากผู้สูงอายุรวมกลุ่มและเขียนโครงการเพื่อขอรับเงินกองทุน มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ตำบลของตนเอง
การลดปัญหาผลกระทบที่จะเกิดจากสังคมสูงวัยจะช่วยให้ผู้สูงอายุ มีรายได้ ลดภาระในการพึ่งพิงได้นั้น ต้องมีหลายกิจกรรมหลายกระบวนการในการช่วยผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่จะดูแลผู้สูงอายุต้องให้ความสำคัญในการดูแล เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมที่คนสูงวัยอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีสุขภาวะที่ดี