ผู้สูงอายุ ควรกินยังไงให้ได้ประโยชน์
ที่มา : อยากสุขภาพดีต้องมี 3อ. สำหรับวัยสูงอายุ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผู้สูงอายุนั้นมีความต้องการพลังงานลดลง เนื่องจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันมีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง จึงต้องได้รับสารอาหารที่พอดี นอกจากนั้นการเลือกอาหารและวิธีการกินก็มีความสำคัญเช่นกัน
ด้วยผู้สูงอายุต้องการพลังงานลดลง แต่โปรตีนเท่าเดิม (1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ดังนั้น ผู้สูงอายุควรกินอาหารกลุ่มข้าวแป้งและไขมันลดลง เพื่อให้ได้พลังงานไม่มากเกินไป เน้นการกินข้าว-แป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย วันละประมาณ 6-8 ทัพพี สำหรับเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ยังกินได้เหมือนเดิม ประมาณวันละ 8-10 ช้อนกินข้าว เนื้อปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีของผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรกินปลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่ 1 ครั้ง ควรเป็นปลาที่มีไขมันสูง เพราะมีกรดไขมันสายยาวชนิดโอเมก้า-3 สูง เพื่อช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยิ่งสำคัญกับผู้ที่มีอาการทางหัวใจอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปลาที่มีไขมันสูงอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษ (เช่น dioxin และ PCBs) ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้กินปลาเกิน 4 ครั้งต่อสัปดาห์ (ปริมาณการกินปลาแต่ละครั้งประมาณ 140 กรัม)
ผู้สูงอายุควรกินอาหารหลากหลายที่มีผักและผลไม้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ปริมาณใยอาหารที่เพียงพอ ผู้สูงอายุที่ดื่มนมได้ ไม่ท้องเสีย ควรดื่มนมที่มีไขมันต่ำเป็นประจำ นอกจากนี้อาจพิจารณากินอาหารที่มีการเติมวิตามินและแร่ธาตุ หรืออาหารฟังก์ชันบางชนิดที่อาจมีผลดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (probiotics) และอาหารที่มีการเติมใยอาหาร หรือพรีไบโอติกส์ (prebiotics) ซึ่งดีต่อสุขภาพของทางเดินอาหาร
ผู้สูงอายุมักมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้นมีผลต่อการ เจริญอาหารของผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุกินได้น้อยลงจะมีผลทำให้ความสามารถ ในการดูดซึมอาหารน้อยลงไปด้วย จึงเป็นการยากที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่ผู้สูงอายุควร กินอาหารที่หลากหลายเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
ผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยกลางและวัยปลายมักมีสุขภาพช่องปากและฟันไม่ดีพอ การดัดแปลงเมนูอาหารและวิธีการเตรียมอาหาร อาจช่วยให้ผู้สูงอายุกินอาหารได้มากขึ้น เช่น การกินผักสดอาจเปลี่ยนเป็นผักต้ม การกินผลไม้เป็นชิ้นหรือทั้งผลอาจเปลี่ยนเป็นผลไม้ปั่น การเปลี่ยนเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้นให้ เป็นเนื้อสัตว์สับละเอียดหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ แทน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผักและผลไม้ยังเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงอีกด้วย ดังนั้น ผู้สูงอายุควรกินผัก ผลไม้วันละ 400 กรัม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)