“ผู้สูงอายุ”เสียชีวิตจากหกล้มเพิ่ม

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


“ผู้สูงอายุ”เสียชีวิตจากหกล้มเพิ่ม thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมควบคุมโรค” เผย “ผู้สูงอายุ” เสียชีวิตจากการหกล้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละมากกว่า 800 คน บาดเจ็บกว่า 6 แสนคน พบกระดูกข้อมูกหักมากสุด ตามด้วยสะโพก และซี่โครงหัก พบ 31% เกิดขึ้นในบ้าน เตือนลูกหลานใส่ใจผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้าน ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย


นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า วันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีผู้สูงอายุ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 – 2558) การเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยมากกว่า 800 คนต่อปี หรือประมาณ 3 คนต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในปี 2558 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 1,049 คน


นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากนี้ รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคน พลัดตกหกล้มทุกปี ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 6 แสนคน โดยได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ กระดูกข้อมือหัก รองลงมา คือ สะโพกหัก และซี่โครงหัก สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่หกล้มนอกบริเวณบ้านมากถึงร้อยละ 65 และหกล้มในบ้านร้อยละ 31 ที่สำคัญพบว่า สาเหตุเกิดจากลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกันร้อยละ 60 และมีเพียงร้อยละ 5.80 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันได และขั้นบันได


“การป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. ประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหกล้มมาก่อน และควรให้ฝึกการทรงตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2. กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวและกินยาหลายชนิด ควรจะรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ 3. ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรอยู่บ้านชั้นเดียว กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้อยู่ชั้นล่าง เก็บบ้านให้เป็นระเบียบ พื้นไม่ลื่น มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ เป็นต้น และ 4. ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมในการสำรวจสิ่งแวดล้อมเสี่ยงและปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย เช่น พื้นทางเดิน ถนน และสถานที่สาธารณะ เป็นต้น และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก๊ก โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น” อธิบดี คร. กล่าว


นพ.เจษฎา กล่าวว่า ที่สำคัญ บุตรหลานควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด และมีกิจกรรมร่วมกันภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่ผู้สูงอายุ หรือพบเห็นผู้พลัดตกหกล้ม ควรตั้งสติ ทำการประเมินการบาดเจ็บ หากไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับแล้วรู้สึกปวดสะโพก หรือโคนขา ไม่ควรเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และเส้นประสาทข้างเคียง ต้องเข้าเฝือกชั่วคราว จากนั้นนำส่งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669

Shares:
QR Code :
QR Code