ผู้สูงอายุกับการดูแลสุขภาพ ในช่วงหน้าหนาว

ที่มา : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

                    เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายปี อากาศก็จะเริ่มหนาวเย็นลง หลายคนรู้สึกชื่นชอบช่วงเวลานี้ แต่สำหรับผู้สูงอายุ อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นลงอาจส่งภัยร้ายต่อสุขภาพได้ หากไม่ระมัดระวังเตรียมตัวดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไว้ก่อน
                    สำหรับผู้สูงอายุที่แข็งแรงดีก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพ ซึ่งทำง่าย ๆ โดยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้ามีความหนาเพียงพอ ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น ออกกำลังกายเป็นประจำ เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย กินอาหารร้อน ๆ หลากหลายให้ครบ 5หมู่ในแต่ละวัน ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (ประมาณ 7-9 ชั่วโมง)
                    *ในกรณีที่ผู้สูงอายุ ต้องการไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวและเตรียมยาที่จำเป็นให้พร้อมก่อนการเดินทาง

สิ่งที่พึงระวังเป็นพิเศษ
                    1. โรคติดต่อทางการหายใจ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดง่ายในฤดูนี้ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ
                    การป้องกัน ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชนที่มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น โรงภาพยนตร์ แหล่งการค้าที่มีคนอยู่หนาแน่น และควรล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น การงดสูบบุหรี่ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจได้อีกทางหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย และถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าเวลาไอหรือจาม
                    การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งได้ผลดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
                    หากผู้สูงอายุเริ่มมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้เครื่องนุ่งห่มที่หนาและอบอุ่นพอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเย็น ควรนอนพักมาก ๆ และดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ ถ้าไข้สูง ตัวร้อนมาก ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ ได้แก่ พาราเซตามอล(ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ ยกเว้นแพทย์สั่ง)ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 5วัน โดยเฉพาะถ้าหากหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หรือหายใจมีเสียงดัง ควรรีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการตรวจรักษาเพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
                    2. ปัญหาเรื่องผิวหนัง  เช่น ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบและคัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย และต่อมไขมันทำงานลดลงตามอายุ จึงมีแนวโน้มที่ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูหนาวซึ่งอากาศแห้งและมีความชื้นในอากาศน้อย ยิ่งเมื่ออาบน้ำอุ่นจัดก็จะยิ่งชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไปอีก สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง ควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไม่อาบน้ำนาน ๆ และควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำและเช็ดตัวพอหมาด ๆ ทุกครั้ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรใช้โลชั่นประเภทที่ใช้กับผิวเด็กอ่อน จะปลอดภัยกว่า และควรทาวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะสารเคลือบผิวจะหลุดลอกออกได้เมื่อเวลาผ่านไป ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปสติกมันบ่อย ๆ
                    3. การกำเริบรุนแรงของโรคในระบบไหลเวียนเลือด  เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยอยากออกกำลังกายในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น การกินอาหารที่มีไขมันสูงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นในช่วงอากาศหนาว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากมีโรคของระบบไหลเวียนเลือดอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง อาจทำให้โรคเดิมเหล่านี้กำเริมขึ้นได้ ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วอาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ในฤดูนี้อีกด้วย ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรดูแลรักษาให้ร่างกายอบอุ่นสม่ำเสมอ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเมื่อรู้สึกว่าโรคเดิมมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น บวม รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือเจ็บแน่นหน้าอกในขณะที่ออกแรง
                    4. ภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงมากผิดปกติ  สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทห่างไกลที่อากาศหนาวจัดต้องระวังภาวะนี้ เนื่องจากประสาทรับรู้อากาศที่หนาวเย็นที่ผิวหนังของผู้สูงอายุมีความไวลดลง ร่างกายไม่สามารถตอบสนองด้วยการหนาวสั่น หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังไม่ให้สูญเสียความร้อนจากร่างกายก็เสื่อมลง
                    5. ปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรังอยู่เดิม อากาศที่หนาวเย็นอาจกระตุ้นให้โรคข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์ มีอาการรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

                    ผู้สูงอายุทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีตลอดเวลา เพราะเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ตามฤดูกาลที่คุ้มค่าที่สุด ลูกหลานก็มีบทบาทอย่างมากในการดูแลผู้สูงอายุอันเป็นที่รักให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ยิ่งกว่านั้นการเอาใจใส่ดูแลของลูกหลาน ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code