ผู้สัมผัสอาหารควรสวมถุงมือยาง
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ผู้สัมผัสอาหารสวมถุงมือยางในการปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง หวังลดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากการสัมผัสทางมือ โดยเลือกถุงมือที่มีคุณภาพดี พร้อมแนะให้หลีกเลี่ยงถุงมือพลาสติกรีไซเคิล หวั่นสะสมเชื้อโรค
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้สัมผัสอาหารถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่ผู้บริโภคได้หากมีพฤติกรรมด้านสุขาภิบาลอาหารที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยได้จัดทำหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เพื่อให้ผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานดียิ่งขึ้น โดยผู้สัมผัสอาหารที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารหรือวุฒิบัตรเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นมืออาชีพด้านความปลอดภัยของอาหาร ช่วยให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมั่นใจในความสะอาดปลอดภัย โดยเฉพาะความสำคัญในกระบวนการปรุงประกอบอาหารที่ผ่านการสัมผัสมือโดยตรง ควรมีการสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่มากับมือ ที่พบบ่อยคือโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบรายงานผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 จำนวน 656,341 ราย
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถสัมผัสกับอาหารได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่รับอาหารเข้าสู่ร่างกาย อาทิ การใช้ถุงมือยางสำหรับอาหารโดยเฉพาะ แต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทอาหาร เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และถุงมือยางต้องมีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถุงมือยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารควรเลือกใช้ถุงมือยางจากยางธรรมชาติประเภทยางพารา เนื่องจากยืดหยุ่นดี สวมใส่ง่าย ราคาไม่สูงมาก และที่สำคัญถุงมือที่ใช้ต้องมีสภาพดี ไม่สกปรก ไม่ฉีกขาด ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพราะอาจจะปนเปื้อนและเป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาสู่อาหารได้
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าอาหารต้องมีมาตรการที่เข้มงวดให้ผู้สัมผัสอาหารสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับตนเอง ด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนที่จะปรุงประกอบอาหาร หลังจากใช้ห้องส้วม และไม่ควรใช้มือ หยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ โดยเฉพาะอาหารที่พร้อมรับประทาน นอกจากนี้ สถานที่ในการใช้ปรุงประกอบอาหารต้องสะอาด เป็นระเบียบ เนื่องจากอาหารอาจถูกปนเปื้อนได้ง่ายจากเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป จึงต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร พื้น ผนัง เพดานของห้องครัว ให้สะอาดอยู่เสมอ ส่วนผ้าเช็ดทำความสะอาดต้องแยกใช้เฉพาะแต่ละบริเวณ เช่น ผ้าที่ใช้เช็ดโต๊ะ ต้องแยกจากผ้าที่ใช้เช็ดพื้น และต้องซักทำความสะอาดบ่อย ๆ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด