ผู้ป่วยวัณโรคสูบบุหรี่เสี่ยงชีวิตมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า

เลขาฯ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผย งานวิจัยระบุ ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรคมีอัตราการเสียชีวิตเป็น 2 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรค

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยโดย น.พ.สัญชัย บาสุ ตีพิมพ์ในวารสารบริติช เมดิคัล เจอร์นัล ที่วิเคราะห์ผู้สุบบุหรี่ 40 ล้านคนจะเสียชีวิตจากวัณโรคภายในปี 2050 ซึ่งจากการวิเคราะห์ที่พบว่าประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรโลกเป็นผู้สูบบุหรี่ โดยแนวโน้มจำนวนผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้นจากประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และจากการพยายามขยายตลาดของบริษัทบุหรี่

รวมทั้งอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นในประเทศที่มีวัณโรค ในอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดวัณโรค และปอดของคนที่สูบบุหรี่มีความสามารถในการที่จะควบคุมการลุกลามของวัณโรคในปอดลดลงด้วย ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรคมีอัตราการเสียชีวิตเป็น 2 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรค กล่าวคือ คนที่เป็นวัณโรคและสูบบุหรี่เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนที่เป็นวัณโรคแล้วไม่ได้สูบบุหรี่

ผู้ป่วยวัณโรคสูบบุหรี่เสี่ยงชีวิตมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ในคนสูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรค อาการของโรคจะรุนแรงกว่า เช่น ไอมากกว่า เหนื่อยหอบมากกว่า เมื่อเอกซเรย์ปอดจะพบมีแผลวัณโรคที่ใหญ่กว่าและโรคกระจายได้มากกว่า อีกประการหนึ่งคนสูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรคมักจะรู้ว่าเป็นวัณโรคช้า เนื่องจากเข้าใจผิดว่าอาการไอที่เกิดจากวัณโรคเกิดจากการสูบบุหรี่ โรคจึงลุกลามมากและกว่าจะรู้อาการก็รุนแรงจนเสียชีวิตในที่สุด จึงเป็นสาเหตุให้คนเป็นวัณโรคที่สูบบุหรี่เสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่

สำหรับประเทศไทย อัตราผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด จาก 78.3 รายต่อ 1 แสนประชากรในปี 2542 เพิ่มเป็น 113.6 หรือ1 แสนประชากรในปี 2542 เพิ่มเป็น 113.6 หรือเท่ากับผู้ป่วยวัณโรค 71,947 คนในปี 2551 ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ไทยในปี 2552 มีจำนวน 10.9 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จำนวนผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา และจากสถิติที่พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอยู่ที่ 40% ทำให้ประมาณการได้ว่ามีผู้ป่วยวัณโรคไทยหลายหมื่นคนที่เป็นคนสูบบุหรี่ ซึ่งผู้สูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรคแล้วต้องหยุดสูบโดยเด็ดขาดหากต้องการให้โรคหายเร็วและผลการรักษาที่ดีขึ้น ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไปที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ หากมีอาการไอผิดปกติติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ เป็นหวัดแล้วหายช้า ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บชายโครงเวลาหายใจ หรือมีอาการเหนื่อยมากกว่าปกติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code