ผู้ป่วยทางจิตเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น
แฟ้มภาพ
“กรมสุขภาพจิต” เผยผู้ป่วยทางจิตเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาฟื้นฟูมากขึ้น พร้อมบริการทางจิตเวชเป็น 1 ใน 11 กลุ่มโรคสำคัญ เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง
ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ผู้ป่วยจิตเวช ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปฏิรูป” ในงานวันอนุสรณ์ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย และวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2558 (World Mental Health Day 2015) ว่า การปฏิรูประบบสุขภาพพยายามให้ครอบคลุมบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยได้บรรจุเรื่องการบริการทางจิตเวชเป็น 1 ใน 11 กลุ่มโรคสำคัญ เพื่อให้ 12 เขตสุขภาพ และ กทม.นำการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานในเขตสุขภาพ สร้างระบบดูแลผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการไร้รอยต่อกับโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยระยะต้นเน้น 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิต โรคซึมเศร้า บำบัดผู้ติดสุรา และติดยาเสพติด เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ให้การฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย ป้องกันมิให้เกิดภาวะเสื่อมถอยของสมอง ตลอดจนฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยในกรณีที่มีความเสื่อมถอยแล้ว ล่าสุด พบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการ ร้อยละ 57
“จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และสังคมในการส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการ การสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟู การให้โอกาสทางอาชีพ การยอมรับผู้ป่วยที่หายดีแล้วกลับเข้าสู่ชุมชนและสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยที่อาการดีสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไปได้” นพ.ณรงค์กล่าว
ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สังคมยังคงมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวช และเมื่อผู้ป่วยก่อเหตุรุนแรงปรากฏเป็นข่าวครึกโครม ซึ่งอาจมีเพียงไม่กี่ครั้ง สังคมมักตั้งข้อสงสัยว่าป่วยจริงหรือไม่ จะต้องรับโทษหรือไม่ รวมทั้ง ผู้ป่วยโรคจิตน่ากลัวกว่าทุกคนจริงหรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยทางจิตมีเพียงจำนวนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงขึ้นในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ ซึ่งจากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ครั้งล่าสุด คาดมีผู้ป่วยโรคจิต ประมาณ 5 แสนคน และจากรายงานการบำบัดรักษา การจำหน่ายผู้ป่วยและการติดตามผลการบำบัดรักษา ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ในปี 2557 พบผู้ป่วยทางจิตก่อคดีเพียง 172 ราย ไม่ถึงร้อยละ 1 ในจำนวนนี้ความผิดร้ายแรงฐานฆ่า/พยายามฆ่า มีประมาณ 1 ใน 5 ส่วนที่เหลือเป็นความผิดคดีอื่นๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย บุกรุก ยาเสพติด และวางเพลิง เป็นต้น โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการก่อคดีซ้ำ
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้ คือ 1.การดูแลรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ 2.ครอบครัวที่จะให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และ 3.สังคม ที่จะให้โอกาสผู้ป่วยดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และในวันนี้กรมสุขภาพจิตก็ได้เปิดบ้านหลังคาแดงอีกครั้ง เพื่อสะท้อนและตอกย้ำให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพของผู้ป่วย ที่พร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถพึ่งพาตนเองและเปลี่ยนจากภาระ มาเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ