‘ผู้บริโภคควรใส่ใจ อะไรอยู่ในผัก ผลไม้’
‘ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง’ หลายคนคงเคยได้ยินข้อความรณรงค์ให้คนไทยหันมากิน ผัก ผลไม้ควบคู่กับอาหารชนิดอื่นๆ กินให้ครบทุกมื้อ และให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ผักและผลไม้ที่มีคุณค่าต่อร่างกาย กลับมีสารเคมีตกค้างเกินปริมาณที่กำหนดไว้ …
หากเป็นอย่างนี้แล้ว ผู้บริโภคควรทำอย่างไร?
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ให้ข้อมูลว่า จากการสุ่มตรวจผัก ผลไม้ 10 ชนิด คือคะน้า ถั่วฝักยาว พริกจินดา ผักชี กะเพรา ส้มไทย ส้มจีน แอปเปิล ฝรั่ง แตงโม และสตรอเบอร์รี่ ตรวจพบสารเคมี 4 กลุ่ม ตกค้างในผักผลไม้ 10 ชนิด คือมี กลุ่มคาร์บาเมท ซึ่งมีสารอันตรายร้ายแรงอย่างคาร์โบฟูแรน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออกาโนคลอรีน ไพรีทรอยด์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสารเคมีกำจัดแมลง ส่วนอีกกลุ่มเป็นสารป้องกันเชื้อราและโรคพืช คือ คาร์เบนดาซิม ซึ่งเพิ่มการตรวจเฉพาะใน ส้ม แอปเปิล และสตรอเบอร์รี่
“ก่อนการตรวจสอบคิดว่า สารคาร์เบนดาซิม อาจมีตกค้างบ้าง แต่อาจเพราะไม่เคยมีการตรวจสอบมาก่อน เมื่อได้ตรวจจริงๆ จึงพบว่าการตกค้างเยอะกว่าค่า MRLs ค่อนข้างมาก ถ้าหากมีการสะสมในระยะยาวก็เป็นอันตรายหมด เพียงแต่เป้าหมายในการก่อโรคเรื้อรังแตกต่างกัน” ปรกชล อธิบายเพิ่มเติม
ค่า MRLs คืออะไร?
MRLs หรือ Maximum Residue Limits คือ ระดับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในอาหาร ที่ยอมรับให้มีได้ที่พบในอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ จะแสดง ค่า MRLs เป็นหน่วย มิลลิกรัม (มก.) ของสารพิษตกค้างต่อกิโลกรัม (กก.) ของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดการจัดตั้งค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างในพืชผลเกษตร
‘ผัก ผลไม้ในห้าง สารตกค้างมากกว่า ตลาดสด’
ปรกชล บอกเล่าถึงการสุ่มตรวจผักผลไม้ว่า การสุ่มตรวจผัก ผลไม้ทั้ง 10 ชนิด จะแบ่งตรวจในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีทั้งผักที่รับรองมาตรฐานและไม่ได้รับรองมาตรฐาน Q หรือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ส่วนตลาดจะมีทั้งตลาดค้าส่งและตลาดสดทั่วไป โดยจะสุ่มตรวจใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ซึ่งตรวจทั้งในห้างและตลาดสด ส่วนขอนแก่น ยโสธร และสงขลา จะตรวจในตลาดสดอย่างเดียว และผลการสุ่มตรวจส่วนใหญ่พบว่า ในห้างมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากกว่าตลาดสด สำหรับผัก ผลไม้ที่พบว่ามีค่า MRLs ตกค้างเกินมาตรฐานสูงสุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบสารเคมีตกค้าง 100% ฝรั่ง 69.2% แอปเปิล 58 % คะน้า 54% สตรอเบอร์รี่ ส้มจีน กะเพรา ชนิดละ 50% ถั่วฝักยาว 42.8% ผักชี 36 % แตงโม15% และพริกจินดา 8.3%
เนื่องจากผัก ผลไม้ทั้ง 10 ชนิด ที่สุ่มตรวจเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้เกิดความต้องการบริโภคสูงขึ้น กระบวนการผลิตจึงต้องรวบรัดเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคนั่นเอง และจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พบว่า ผักในห้างมีสารตกค้างเยอะกว่าตลาดสด เนื่องจากเมื่อส่งผัก ผลไม้ขึ้นห้างสรรพสินค้า ความกังวลเรื่องการตลาดจะไม่มี เพราะสามารถขายได้ราคาสูง และผักที่อยู่ในห้างต้องมีลักษณะสวย ไม่มีรอยกัดกินของแมลง ทำให้การกำจัดแมลงทำได้อย่างเต็มที่
ปรกชล บอกอีกว่า หลักจากที่มีการตรวจสอบ ทางเครือข่ายฯ ได้พูดคุยกับห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ผู้ค้าปลีก และหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับการแก้ปัญหา เนื่องจากการตกค้างของสารเคมีในผัก ผลไม้มีค่าเฉลี่ย เกินมาตรฐานมากถึง 46.6% จึงต้องได้รับการควบคุมโดยด่วน ส่วนด้านผู้ประกอบการรับทราบปัญหาและพยายามกำชับให้ตัวแทนรับส่งสินค้า หรือทางพ่อค้าคนกลางบอกต่อไปยังด้านเกษตรกร ให้ลดปริมาณการใช้สารเคมี และสร้างความร่วมมือผลักดันการกำหนดค่า MRLs ที่คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
‘ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและตื่นตัว’
‘จริงๆ แล้วผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดสิทธิ์ หากเราสนใจแหล่งที่มาของผักและผลไม้ การให้ความสำคัญเรื่องสารเคมีตกค้าง หรือการส่งเสริมให้เกิดการผลิตผัก ผลไม้แบบปลอดภัยมากขึ้น โดยการเลือกซื้อผัก ผลไม้ที่ปลอดสารเคมี การเลือกบริโภคผักจากการเกษตรในรูปแบบอื่นๆ อย่างเกษตรอินทรีย์หรือกินผัก ผลไม้ที่ตรงตามฤดูกาล ก็เป็นการลดการผลิตนอกฤดูกาล ลดการควบคุมโรคแมลงและการใช้สารเคมีต่างๆ’ ปรกชล เสนอแนะ
นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายไว้ว่า การทำความสะอาด ผักผลไม้ โดยการล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดได้บางส่วนสำหรับสารเคมีที่ไม่ดูดซึม แต่สารเคมีที่มีการดูดซึมในเนื้อเยื่อ ก็ไม่สามารถล้างออกได้ เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงที่ขั้นตอนการผลิต เกษตรกรต้องไม่มีการใช้สารเคมีประเภทดูดซึม หรือใช้แล้วควรเว้นระยะเก็บเกี่ยวเพื่อให้สารเคมีสลายไป ประเทศไทยมีการใช้สารเคมี 400 กว่าชนิด สารตกค้างที่มีสารเคมีดูดซึมในเนื้อเยื่อปนอยู่ถึง 51 %
เราเองในฐานะผู้บริโภคควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ผู้บริโภคสามารถสนับสนุนเกษตรทางเลือก การเกษตรปลอดสารพิษ รวมทั้งการรู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็จะช่วยให้สังคมตื่นตัว หันมาสนใจ และทำให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พร้อมกับร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th