ผู้ชายอยู่ที่ไหน เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม
“แม่ใจยักษ์ทิ้งลูกยัดถังขยะ” ข้อความนี้เป็นหัวข่าวที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ จนเสียงของสตรีหลายท่านแย้งมาว่า…ทำไมถึงตำหนิแต่ผู้หญิง ถ้าไม่มีผู้ชายเด็กจะเกิดได้ไหมล่ะ ผู้ชายไปอยู่ที่ไหนกันเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ขณะที่ไม่พร้อม และหาทางออกไม่ได้จนต้องทิ้งลูก
คำถามสำคัญคือผู้ชายอยู่ที่ไหน ขณะที่ฝ่ายหญิงต้องก้มหน้ายอมรับคำปรามาสจากสังคม
ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมไม่ใช่แค่เพียงผู้หญิงที่ทิ้งลูกเพราะเลี้ยงไม่ไหว แต่รวมถึงคุณแม่วัยรุ่นที่ท้องในวัยเรียน สถิติที่ประเทศไทยชนะเลิศแต่ไม่รู้สึกยินดี คือการมีคุณแม่วัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ตัวเลขสูงเป็นที่หนึ่งในเอเชีย เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องทิ้งอนาคต แบกรับตราบาปจากสังคมไว้แต่เพียงผู้เดียว
เพื่อหาคำตอบว่าผู้ชายหายไปไหน ภารกิจตามหาผู้ชายจึงเกิดขึ้น “โครงการ young love รักเป็น ปลอดภัย” โดยกรมอนามัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเสวนาหัวข้อ “ผู้ชายอยู่ที่ไหน เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม” เชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆ มาบอกเล่าประสบการณ์จากหลายมุมมอง
เวทีเริ่มต้นที่ น้องแนน คุณแม่วัยรุ่น เล่ากรณีตัวอย่างของตนเองที่ตั้งท้องกับแฟนตั้งแต่อยู่ชั้น ม.4 ว่า เมื่อฝ่ายชายทราบจึงบอกให้ทำแท้ง แต่เธอไม่ยอม ภายหลังจึงเลิกรากัน ด้วยความกลัวเธอจึงไม่บอกผู้ปกครอง
“กว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องน้องแนนก็คลอดลูกไปแล้ว หลังจากอุ้มท้องมา 9 เดือนและยังไปโรงเรียนตามปกติ แต่เมื่อพ่อแม่รู้ความจริงก็ไม่ได้ต่อว่าเธออย่างที่คาดการณ์ น้องแนนตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนหลังคลอด แต่ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเธอทราบว่าครูที่โรงเรียนนำเรื่องของเธอไปประจานหน้าเสาธงไม่ให้นักเรียนคนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สร้างความอับอายเกินกว่าจะกลับไป ปัจจุบันน้องแนนรับจ้างเก็บมะนาวตามสวนและพยายามเรียน กศน.แทน”
จากกรณีนี้ ธชา จุลินธร คุณพ่อที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ให้ความเห็นว่า กรณีที่น้องแนนท้องแล้วไม่บอกผู้ปกครอง แก้ไขได้โดยพ่อแม่ต้องทำลายกำแพงของลูก ความรักของพ่อแม่เป็นรูปแบบความรักที่ดีที่สุด ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับสิ่งรอบข้าง ถ้าเปลี่ยนทัศนคติของตนเองได้พ่อแม่จะเป็นยิ่งกว่าเพื่อนของลูก ลูกจะอยู่ให้พ่อแม่ดูแลไม่เกิน 25 ปี ในช่วงนี้ต้องทำทุกอย่างทั้งหล่อหลอมและปรับปรุงให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
“ส่วนประเด็นที่ว่าผู้ชายอยู่ที่ไหนเมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อมนั้น เป็นเพราะเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบให้แก่เด็กผู้ชาย ถ้าหากปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก โอกาสที่ผู้ชายจะตีจากผู้หญิงก็จะน้อยลง ต้องให้ผู้ชายทำความเข้าใจกับภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ การปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบต้องเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก พ่อแม่จะต้องเป็นหลักให้ลูกเห็นถึงความรักที่ถูกต้อง เมื่อมีตัวอย่างความรักที่ไม่ดีอื่นๆ พ่อแม่ต้องแข็งแรงพอที่จะดึงให้ลูกกลับมาอยู่ในหนทางที่ถูก”
คุณพ่อ (ที่มีลูก) วัยรุ่น บอกเคล็ดลับว่า “ต้องพูดคุยเรื่องเพศศึกษากับลูกให้เข้าใจ เป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลจริง”
ทางด้าน พระเอกหน้าคมเข้มที่กำลังฮอตสุดสุดในตอนนี้จากบท “สันต์” ในละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” ที่ผู้ชมติดกันทั้งบ้างทั้งเมืองอย่าง ป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ อธิบายถึงละครที่ถูกกล่าวหาว่ามีความรุนแรง อันจะเป็นเหตุให้เยาวชนปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ไม่ดีของหญิงสาวอย่าง “ลำยอง” ได้ว่า ในฐานะคนทำละครไม่มีใครคิดที่จะเอายาพิษให้กับผู้ชมทางบ้าน แต่สื่อมีทั้งด้านดีด้านร้าย พ่อแม่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น จะเปิดละครก็ต้องมาดูกับลูก พูดคุยกับลูกให้เข้าใจ
“ส่วนมุมมองในฐานะคนเป็นพ่อ ปัญหาเรื่องแม่วัยรุ่นที่เกิดขึ้น ต้นเหตุเกิดจากความรักที่ผู้ชายนำมาใช้อ้าง แท้จริงความรักเป็นสิ่งที่ดี สามารถใช้แสดงออกในทางอื่นได้”
เมื่อเกิดปัญหาผู้ชายไม่ได้หายไปไหน มองในแง่ของผู้ชายก็คงไม่ได้อยากทอดทิ้ง แต่อาจจะไม่ไหว ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เดี๋ยวต้องเอ็นทรานซ์ ต้องเกณฑ์ทหาร ผู้ชายก็มีหลักของตัวเอง มีความเห็นแก่ตัว ผู้หญิงก็มีหลักของตัวเองเช่นกัน เพียงแต่ว่าลูกเกิดจากผู้หญิง ผู้หญิงจึงต้องแบกรับความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันปัญหาก็คือ น้องผู้หญิงจะต้องหักห้ามใจ หนักแน่นในตัวเอง” เสียงเตือนจากพี่ป๋อของน้องๆ
มาคุยกับฝ่ายนักวิชาการบ้าง ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “สอนรัก สลักใจ” ถามตอบเรื่องเพศวิถีและเพศสภาวะ มองปัญหานี้ในเชิงโครงสร้างว่า เป็นเพราะความไม่พร้อมทางโครงสร้างของระบบกฎหมาย คนไทยสามารถแต่งงานกันได้เมื่ออายุ 20 ปี ซึ่งการแต่งงานก็คือการอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กันได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี
อาจารย์พิชญ์แนะนำว่า ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเด็กวัยรุ่น เพราะเรื่องเพศศึกษาต่อให้รณรงค์เพียงไรก็ยังมีเรื่องกรอบของสังคมอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะพิเศษของสังคมสมัยใหม่ หากเรามองวัยรุ่นว่าเป็นเด็กจะทำให้เราต้องดูแลเขา แต่หากเรามองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะดูแลตัวเองได้ วัยรุ่นมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังไงเขาก็ต้องเติบโต
อาจารย์พิชญ์ตอบว่า ต้องดูสังคมนั้นว่าความเป็นผู้ชายถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร เพราะความเป็นผู้ชายเกิดจากความเป็นธรรมชาติและบทบาทของสังคม จะมองผู้ชายอย่างเหมารวมไม่ได้ ผู้ชายที่ไม่ทิ้งผู้หญิงก็มี การสร้างความเป็นผู้ชายไม่ได้เกิดจากเพียงแค่ครอบครัวหรือโรงเรียน แต่ยังมีจินตนาการสำเร็จรูปบางอย่างที่สร้างความคิดเรื่องความเป็นผู้ชาย ก็คือสื่อลามกซึ่งน่าสนใจกว่าการเรียนสุขศึกษาในโรงเรีนน หนังโป๊พวกนี้เองมีพล็อตบางอย่างที่ส่งเสริมความเป็นผู้ชาย เช่น ผู้หญิงบอกว่า “ไม่” อาจจะแปลว่ายังโอเคอยู่
อาจารย์อธิบายว่า เกิดจากความน้ำเน่าของสังคมที่สอดศีลธรรมอยู่ ความน้ำเน่านี้เองที่ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระทางศีลธรรมมากกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงในสังคมประณามกันเองเมื่อใครสักคนทำตัวผิดไปจากศีลธรรม ผู้หญิงทุกคนเมื่อดูละครที่มีผู้หญิงประพฤติตัวไม่ดีอย่างลำยองแล้ว ก็จะบอกกับตัวเองว่า “จะไม่เป็นผู้หญิงแบบนั้น” แท้จริงแล้วผู้หญิงมีเอกภาพพอที่จะรวมตัวกันกดดันให้ไปลากผู้ชายที่ทิ้งผู้หญิงมาหรือเปล่า หัวข้อที่ว่าผู้หญิงท้องไม่พร้อม แท้จริงแล้วต้องกลับมาทบทวนว่า เป็นผู้หญิงหรือสังคมที่ไม่พร้อม
“สังคมต้องมีทางเลือกให้เด็ก ไม่ใช่ปลูกฝังให้เด็กวนอยู่กับเรื่องรักๆ ต้องถามถึงเรื่องความหมายของชีวิต เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นมาแล้วได้ศึกษาก็จะพบอะไรที่มากกว่าคำว่าเธอรักฉัน ฉันรักเธอ จะอยากค้นหาเรื่องอื่นให้รู้ลึกลงไป ไม่ใช่วนอยู่กับเรื่องความรักเพียงเท่านั้น”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ