ผุดโรงเรียนผู้สูงอายุ เติมพลังเสริมคุณภาพชีวิต

ที่มา : ข่าวสด 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ผุดโรงเรียนผู้สูงอายุ เติมพลังเสริมคุณภาพชีวิต thaihealth


ด้วยสภาพสังคมประเทศไทยที่กำลังเตรียมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้หลายภาคส่วนภาครัฐและเอกชน รวมถึงรัฐบาลเองก็สนับสนุนด้านนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ


พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมแกนนำผู้สูงอายุ ผู้รับผิดชอบโรงเรียนผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และพื้นที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ 55 ชุมชน กว่า 200 คนร่วมงานนี้


พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ สำหรับ "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 1,100 แห่ง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่ทำกิจกรรม เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้


ที่สำคัญคือช่วยลดภาวการณ์กลายเป็น ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงรวมถึงลดภาระการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สสส.และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิด "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ในพื้นที่ต่างๆ 2,600 แห่งทั่วประเทศ ในระยะ 3 ปี


นอกจากนั้นจะติดตามประเด็นที่สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพราะผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นนั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โรงเรียนผู้สูงอายุทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดีขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของความมีชีวิตชีวา "ผู้สูงอายุไม่กลายเป็นผู้ที่ถูกลืม หรือรู้สึกไร้ค่าอีกต่อไป" ถือเป็นผลจาก ความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย


พล.อ.ฉัตรชัยยังกำชับฝ่ายบริหารของ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565-2585) เนื่องจากแผนฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) จะสิ้นสุดลงในปี 2564 โดยจะต้องจัดทำแผนฯ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล คสช.


"สิ่งที่ต้องบรรจุอยู่ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จะเน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.การดูแลสุขภาพร่างกาย และ 3.ความมั่นคงด้านรายได้ ทั้งนี้ แผนฯ สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวย้ำ


ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และมีอัตราการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ข้อมูลสถานการณ์ ผู้สูงอายุในปี 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 10.9 ล้านคน เป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรืออีก  3 ปีข้างหน้า


จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 พบว่ากว่าร้อยละ 87.4 ในช่วงอายุ 60-90 ปี ที่ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นถือเป็นกำลังสำคัญของสังคม สามารถพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้


สสส.จึงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง เสริมการทำงานของภาครัฐ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุในประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้สูงอายุประเด็นที่ควรรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยี และประเด็นที่อยากรู้ เช่น กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ดนตรี เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคม


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียน ผู้สูงอายุ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ต่างๆ ที่ดำเนินงานรวมถึงนำเสนอรูปแบบกิจกรรม ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนผู้สูงอายุได้ เช่น กิจกรรมทางกาย โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมดนตรี และนันทนาการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับภาคนโยบาย และการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้ชุมชนเป็นฐานกว่า 300 แห่ง


พ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเรื่อง "การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้" โดย ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชรและคณะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพภาพหรือมีภาวะพฤฒพลัง สร้างการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ทั้ง กาย จิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ปัญญาและความสุข


ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวนมากทั่วประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งสถานที่รูปแบบและวิธีการ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละแห่ง โดยเริ่มจากการศึกษากระบวนการศึกษาถอดบทเรียน และเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ และนำมาต่อยอดดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่เหมาะสมต่อไป


นอกจากการถอดบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับ ผู้สูงอายุแล้ว ภายในงานยังแสดงอังกะลุงจาก อ.พัฒนา สุขเกษม โดย อ.พัฒนาได้มาสอน ผู้สูงอายุจดจำตัวโน้ต และร่วมกันเป่าขลุ่ยไปพร้อมกับเขย่าอังกะลุงเป็นบทเพลง ซึ่งการจดจำตัวโน้ตนั้นจะช่วยเรื่องการฝึกจดจำใน ผู้สูงอายุได้ดี พบว่าในหมู่บ้านที่สอนอังกะลุงนี้ ผู้สูงอายุมีความจำที่ดีขึ้น มีอารมณ์แจ่มใสเบิกบานจากการได้เล่นดนตรีอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code