‘ผักปลอดสาร-อาหารปลอดภัย’ ผลผลิตกลุ่มชาติพันธุ์ ‘คนต้นน้ำ’
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แฟ้มภาพ
หากใครได้ไปเยือน“บ้านปางสา”ต.ป่าตึงอ.แม่จัน จ.เชียงราย สิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้คือผู้คนที่นี่กำลังขะมักเขม้นกับการดูแลพืชผักปลอดสารที่พวกเขาปลูกไว้ ในชื่อ“กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้านชาติพันธุ์ลีซู”เพราะเมื่อพืชเติบโต จะไม่เพียงใช้เป็นอาหารของคนในชุมชนรวมถึงเป็นอาหารกลางวันของเด็กๆ ในโรงเรียน ที่ส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานของพวกเขาเองเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งยังก็ถูกจำหน่ายสู่คนพื้นราบด้วย
สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ด้วยความที่กลุ่มชาติพันธุ์มักอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อันเป็นเขตต้นน้ำ ทำให้ถูกสังคมกลางน้ำ และปลายน้ำ มองว่าคนต้นน้ำใช้สารเคมีทำลายป่า และผลิตพืชผักที่ไม่ปลอดภัย
ทั้งที่แท้จริงแล้ว “วิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มีความสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ สามารถใช้ภูมิปัญญาเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล” อย่างไรก็ตาม “ต้องยอมรับอยู่เหมือนกันว่าพืชเศรษฐกิจบางส่วนได้เข้าไปรุกล้ำพืชพื้นเมือง บางชุมชนจึงใช้สารเคมีมาก” ถึงกระนั้นยังมีอีกหลายชุมชนที่เลือกแนวทางอนุรักษ์พืชพื้นเมือง ลดการใช้สารเคมีลง หรือมีแม้กระทั่งบางชุมชนที่ไม่ใช้สารเคมีเลย
“โครงการมุ่งสร้างความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าตัวเอง โดยใช้อาหารเป็นประเด็นเชื่อมโยง มีการศึกษาภูมิปัญญาของ 9 ชาติพันธุ์ เพื่อค้นหาความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น อันเป็นแนวทางรักษาความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเชื่อว่าถ้าพี่น้องชาติพันธุ์ภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเองทุกอย่างก็จะตามมา เพราะพวกเราอยู่กับการเกษตรแบบพอเพียง หากเรามีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ก็สามารถผลิตอาหารเองได้ มีความปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้บริโภค”สุพจน์ กล่าว
สำหรับวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นจะเริ่มจากการเข้าไปให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือด ตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้ปกครอง ถ้าพบสารเคมีตกค้างในเลือดของเด็ก ก็จะสื่อสารกับผู้ปกครองว่าลูกหลานกำลังได้รับพิษภัยจากสารเคมี ผลเลือดที่อยู่ในระดับเสี่ยง หรือไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการอย่างไร ช่วยให้ชุมชนเกิดความตระหนักมากขึ้น นำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการลดใช้สารเคมีลงในที่สุด
ขณะเดียวกันทำให้คนข้างล่าง ที่เปรียบเหมือนคนกลางน้ำ ปลายน้ำ เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ด้วยการใช้พืชอาหารที่ผลิตไปสื่อสารกับคนในสังคม ว่าจริงๆ แล้วกลุ่มชาติพันธุ์ก็ผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม เช่นในงาน “มหกรรมอาหารชาติพันธุ์-อาหารฮาลาล” ที่ทาง จ.เชียงราย จัดขึ้นทุกปีชนเผ่าต่างๆ ก็จะนำพืชผักจากการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีไปจัดแสดง ทำให้คนในสังคมเห็นว่าชนเผ่ามีเมนูอาหารอะไร ที่เชื่อมโยงกับวิถีความเชื่อ เกื้อกูลกันระหว่างคนกับคน คนกับป่า และคนกับธรรมชาติ
ด้านนัฐวัตร พรชัยกิตติกุล ครูผู้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางสา กล่าวเสริมว่า รู้สึกมั่นใจเรื่องความปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการของพืชผักที่นำมาทำอาหารกลางวันในโรงเรียนมาก เนื่องจากเมื่อผู้ปกครองเริ่มเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมี อีกทั้งยังเป็นคนที่ปลูกทุกอย่างเอง ก็ย่อมดูแลเอาใจใส่อย่างดี ไม่ฉีดพ่นสารที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกหลาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กระแสของการพัฒนาทั้งในประเทศและระดับโลกมักเน้นเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อมุ่งให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม” ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรอย่างกว้างขวาง “เกษตรกรหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ไม่เพียงแค่ในกลุ่มคนพื้นราบแต่ยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆด้วย”ผลที่ตามมาคือมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อสุขภาพตนเองและสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ขณะเดียวกันความหลากหลายทั้งพืชพรรณและอาหารก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนนำมาสู่ความพยายามหาหนทางฟื้นฟูที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
ซึ่งสำหรับ จ.เชียงราย ความเชื่อ ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูง พบว่าทำให้อยู่ร่วมกับป่าได้ โดยแต่ละชนเผ่ามีวิถีวัฒนธรรมที่มีการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าอยู่แล้ว เพราะถ้าป่าไม่มี คนก็จะอยู่ไม่ได้จึงไม่ทำลายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และต้องมีระเบียบในการจัดการด้วยภูมิปัญญาของตนเองไปโดยปริยาย