ผักกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

       นอกจากเทคนิคความรู้เรื่องการทำเกษตรแล้ว อันที่จริงการทำสวนผักยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมากมาย ที่สำคัญทั้งจากประสบการณ์ตรงที่ได้รับฟังมา และจากงานวิจัยหลายชิ้น ยังพบว่า การให้เด็กได้ปลูกผัก มีส่วนช่วยในขั้นตอนต่างๆ มีผลทำให้เด็กที่ไม่กินผัก หันมากินผักมากขึ้น โดยเฉพาะผักที่ตัวเองปลูกเองกับมือ


/data/content/24835/cms/e_fglnopsyz459.jpg


       หลายโรงเรียน หรือ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเริ่มสนใจ แต่บางทีก็คิดไม่ค่อยออกว่าจะนำเรื่องการปลูกผักมาเชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆได้อย่างไร เลยอยากจะขอนำประสบการณ์ที่ทางโรงเรียนอนุบาลรังสิมา เล่าสู่กันฟังมาแบ่งปัน


      อันที่จริงสวนผักคนเมืองที่โรงเรียนอนุบาลรังสีมา เป็นสวนผักเล็กๆ ที่แบ่งปันพื้นที่ด้านข้างและในสนามเด็กเล่นบางส่วนที่เคยปลูกไม้ประดับ เปลี่ยนมาปลูกผักแทน แต่คุณครูก็สามารถนำสวนผักมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็กๆอนุบาลได้อย่างน่าสนใจ


/data/content/24835/cms/e_aefksvwx4578.jpg


      คุณครูสุรีย์   มุสิกเล่าให้ฟังว่า  จากแรงบันดาลใจที่ทุกคนต้องการจะปลูกพืชผักสวนครัวให้ประสบความสำเร็จ  ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกไม้ประดับไว้เป็นแปลงผัก  หลังจากที่ปรับพื้นที่และทำแปลงผักสำเร็จ ก็เริ่มลงมือเพาะเมล็ด  เมล็ดที่เพาะครั้งแรก  เป็นผักบุ้งจีน  แตงร้าน ถั่วพู   ต้นคะน้า  บวบ  นักเรียนระดับอนุบาล 3  ลงมามีส่วนในการเพาะเมล็ดลงในกระถาง  นักเรียนหลายคนไม่กล้าที่จะจับดิน หรือเอามือคลุกดิน แต่เมื่อนักเรียนได้สัมผัสบ่อยขึ้นพูดคุยถึงประโยชน์ของดิน ใบไม้  และวัสดุที่เป็นธรรมชาติ นักเรียนก็กล้าที่จะสัมผัสมากขึ้น  และช่วยปลูกพืชลงในแปลงได้อย่างไม่รังเกียจ 


     สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีและภาคภูมิใจกับนักเรียนคือการที่นักเรียนได้ช่วยรดน้ำต้นไม้ที่เขาได้ปลูก  และเมื่อต้นแตงร้านเริ่มออกดอก  ออกผลนักเรียนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของดอกและผล จนถึงวันที่นักเรียนช่วยกันเก็บแล้วนำมาชั่ง  วัดความยาว  ของผลแตงร้านเปรียบเทียบลักษณะของ  บวบ  แตงร้านและถั่วฝักยาว  เมื่อเรียนรู้ทางด้านการเปรียบเทียบแล้ว  ผักทุกชนิดนำไปทำเป็นอาหารกลับมาให้นักเรียนได้รับประทานเป็นมื้อกลางวัน  นักเรียนที่จากเดิมไม่ชอบทานผัก  แต่เมื่อได้ปลูกเองและเก็บผลมาประกอบเป็นอาหาร  เขาก็จะรับประทานได้อย่างภาคภูมิใจเพราะนี้คือฝีมือปลูกของเขาเอง


/data/content/24835/cms/e_bcdfkmrvx469.png


     คุณครูสุรีย์ บอกถึงความตั้งใจว่าอยากจะทำเรื่องการปลูกผักนี้ต่อไป  เพราะการปลูกผักหรือคลุกคลีอยู่กับต้นไม้ทำให้มีความสุข เป็นการผ่อนคลายจากสิ่งต่าง ๆ สมาชิกได้มานั่งคุยกันสับกาบมะพร้าวไปด้วย ยิ่งถ้าเปิดเพลงเบา ๆ ยิ่งดีมากทั้งคนและต้นไม้  สิ่งที่อยากจะทำเพิ่มขึ้นอีกก็คือการเพาะเห็ด  และการเลี้ยงไส้เดือนอย่างจริงจัง  เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารให้นักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียนได้รับประทาน ถ้าผลผลิตมีปริมาณที่มากขึ้นจะแจกจ่ายและจำหน่ายให้บุคลากรและผู้ปกครองต่อไป


      หวังว่าเรื่องราวของโรงเรียนเล็กๆกับจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้จะเป็นแรงบันดาล และทำให้ทั้งคุณครู และคุณพ่อ คุณแม่ พอจะนึกกิจกรรมการเชื่อมโยงเรื่องการปลูกผักกับการเรียนรู้ของเด็กๆออกขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ใครสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆที่น่าสนใจ เชื่อมโยงการปลูกผักกับการเรียนรู้ของเด็กอีก ก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ


 


 


       ที่มา:  คุณครูสุรีย์   มุสิกะ เว็บไซต์สวนผักคนเมือง


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code