ผวาปีใหม่ ‘เจ็บ-ตาย’ ‘ถนนอันตราย’
‘ภัย‘ ที่ถูกมองข้าม ??
เทศกาลปีใหม่ในเมืองไทยกลายเป็นเทศกาล “บาดเจ็บ-เสียชีวิต” เพราะ “อุบัติเหตุทางรถ” เป็นจำนวนมาก ซึ่งกับเทศกาลปีใหม่ 2553 ที่ใกล้จะมาถึง กระแสรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยก็อึงมี่อีกครั้ง ทั้ง… เมาไม่ขับ, ง่วงไม่ขับ, วินัยจราจร, รถพร้อม-คนขับพร้อม ฯลฯ โดยมีเป้าลดยอดตายลง 5% จากปีก่อนที่ตาย 373 ราย
แต่ก็อย่าลืมอีกประเด็นคือ “ถนนอันตราย”
ประเด็นนี้ก็เป็น “ปัญหาสำคัญ” เช่นกัน !!
ทั้งนี้ เมื่อ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมาทางตำรวจที่ดูแลด้านงานจราจรออกมาระบุว่า… สถิติอุบัติเหตุปี 2552 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. เกิดทั้งสิ้น 1,731 ครั้ง ในจำนวนนี้ 371 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตด้วย โดย ถนน ที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ… เพชรเกษม 23 ครั้ง, สุวินทวงศ์ 19 ครั้ง, กาญจนาภิเษก 17 ครั้ง ซึ่งจากตัวเลขอุบัติเหตุ-ความสูญเสียดังกล่าวนี้ บางทีสาเหตุอาจมิใช่เพียงเพราะคนขับรถและรถเท่านั้น ??
เมื่อ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางตำรวจทางหลวงก็ออกมาระบุว่า… ในแต่ละปีอุบัติเหตุทางรถที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งงบประมาณของประเทศชาติ เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งบอกว่า… จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการขาดวินัย และความประมาท ขณะเดียวกัน จากการสำรวจจุดทางโค้ง และจุดเสี่ยงอันตราย พบว่า… ทั่วประเทศมีทางโค้งที่อันตราย 87 โค้ง !!
อีกหน่วยงานที่ออกมาระบุถึงภัยบนท้องถนนเมื่อเร็ว ๆ นี้คือกรมทางหลวง มีการระบุว่า… จากการศึกษาจุดอันตรายบนทางหลวงจากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรปี 2549 ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 12,919 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,647 ราย บาดเจ็บ 11,129 ราย พบว่า… มีจุดอัน ตรายทั้งสิ้น 784 แห่ง !! บางแห่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อปี โดย ถนนที่มีอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข 303 ดาวคะนอง-ป้อมพระจุล) ช่วง กม.11-25 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 513 ครั้ง ถนนสุขุมวิท ช่วงบางนา-สมุทรปราการ ระหว่าง กม.16+700-40+300 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 325 ครั้ง ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วง กม.6-20 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 228 ครั้ง ขณะที่ทางหลวงในต่างจังหวัด จุดอันตรายส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณทางร่วมแยก ทางโค้ง
เหล่านี้เป็นตัวเลขภัยอันตรายที่เกิดขึ้นบน “ถนน”
และ “ถนนอันตราย” ก็ทำให้เกิดภัยเช่นนี้ขึ้นได้ !!
“ปัญหาอุบัติเหตุจราจรถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนไทย โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรปีละกว่า 12,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 33 คน คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 19 คนต่อแสนประชากร ซึ่งสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละหลายแสนล้านบาท รัฐบาลจึงได้ประกาศให้การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ” …นี่เป็นการระบุของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
การ “แก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร” โดยกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” ก็น่าจะเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเข้มงวดกวดขันด้านวินัยจราจร-การใช้รถในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว กับประเด็นการใช้ถนน และโดยเฉพาะ “ถนนที่รถใช้” ก็ควรต้องให้ความสำคัญ ควรจะ “ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย” ด้วย !!
ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อกว่า 6 ปีก่อน ได้เคยสะท้อนไว้แล้วว่า… ถนน กายภาพของถนน ก็มีผลต่อการเกิด-ไม่เกิดอุบัติเหตุทางรถ ในตอนนั้นก็ได้มีการสะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ หน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่น… “ในเมืองไทยเวลาเกิดอุบัติเหตุ การสอบสวนมักพุ่งไปที่ตัวคนขับรถเป็นหลัก แต่ในประเทศที่มีมาตรฐานเขาจะพิจารณาทั้งคน-รถ-ถนน รวมกัน”
คำถามคือ… “คนไทยสามารถจะเชื่อมั่นกับมาตรฐานถนนได้มากน้อยแค่ไหน ??” ในขณะที่ทุกวันนี้ยังมีรถที่เกิดอุบัติเหตุเพราะถนน เช่น โค้งอันตราย ถนนเป็นเนิน ถนนเป็นหลุม อีกทั้งองค์ประกอบของถนน เช่น คูคลอง หรือ ต้นไม้ ข้างทางหรือบนเกาะกลางถนน ได้มาตรฐานเรื่องเขตปลอดภัยหรือไม่ ?? ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน แทนที่จะช่วยให้ปลอดภัยก็อาจกลายเป็นตัวซ้ำเติมให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุ !! รวมถึง หลักกิโลเมตร ที่เป็นแท่งซีเมนต์อยู่ข้างทาง ซึ่งเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุแล้วไปชนเข้าก็อาจยิ่งทำให้เป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงยิ่งขึ้น!!
“แยกผีสิง” “โค้งร้อยศพ” และอีกสารพัดชื่อเรียกน่ากลัวเกี่ยวกับถนนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ เกิดอุบัติเหตุรุนแรงเป็นประจำ มีกระจายอยู่ทุกทิศทั่วไทย ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพฯเมืองหลวง ซึ่งถามว่า…กี่แยก-กี่โค้ง-กี่จุด ที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางรถ หรือเป็นตัวผสมโรงทำให้อุบัติเหตุรุนแรง-มีการบาดเจ็บและเสียชีวิต ?? คำถามนี้ในเมืองไทยที่ผ่านมายังมีคำตอบที่ไม่ชัด ขณะที่แม้แต่กับทางพิเศษที่ต้องเสียเงินเอารถขึ้นไปวิ่ง…ก็มีคำถาม ??
รณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจรช่วงปีใหม่…เป็นเรื่องดี
แก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นวาระแห่งชาติ…ก็ดี
แต่จะยิ่งดีถ้า “แก้ปัญหาถนนอันตราย” ด้วย!!.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:04-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่