ผลิตสารคดีให้ความรู้การป้องกันกำจัดหนู

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ มีหนูจำนวนมากออกมาจากท่อระบายน้ำ ทำให้ประชาชนอาจจะเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนูได้


ผลิตสารคดีให้ความรู้การป้องกันกำจัดหนู thaihealth


นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ฝนตกหนักน้ำท่วมมีหนูเป็นจำนวนมากออกมาจากแหล่งหลบซ่อน ทำให้เป็นห่วงว่าประชาชนจะเสี่ยงต่อโรคฉี่หนูและโรคที่มากับหมัด ไร บนตัวหนู และหนูเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุขนำโรคร้ายหลายชนิดมาสู่คน เช่น กาฬโรค ในอดีตกาฬโรคคร่าชีวิตผู้คนนับหลายล้านคน โชคดีที่ประเทศไทยปลอดจากกาฬโรคมาหลายสิบปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังคงต้องเฝ้าระวังโรคตามแนวตะเข็บชายแดนอยู่อย่างต่อเนื่อง


นอกจากนี้ยังมีอีกโรคหนึ่งที่รู้จักกันดีคือโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส โดยทั่วไปเชื้อโรคฉี่หนูจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทาง  คือ ทางปากจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และเชื้อไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ เชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วยที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนและการทำงานที่มีโอกาสได้รับเชื้อโรคนี้ให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง


หนูที่พบในประเทศไทยมีหลายประเภท การทราบชนิดของหนูที่เป็นปัญหาจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุม เนื่องจากหนูแต่ละชนิดมีแหล่งอาศัยหลบซ่อนแตกต่างกันและเป็นพาหะนำโรคแตกต่างกัน  แต่ที่พบมากในแหล่งชุมชน  มี 4 ประเภท ได้แก่ หนูนอรเว (Rattus norvegicus) หรือหนูท่อ หรือหนูขยะ เป็นหนูขนาดใหญ่ น้ำหนักตัว 200 ถึง 500 กรัม กินอาหารได้ทุกประเภท ชอบขุดรูอาศัยในดินใกล้กองขยะ ในสวน หรือใต้ถุนบ้าน อาศัยตามท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ในแหล่งชุมชน เช่น ตามตลาด หากินไกล  100-150 เมตร หนูท้องขาวบ้าน (Rattus rattus) หนัก 90-250 กรัม พบตามเพดานของอาคารบ้านเรือน ใต้ฝ้าเพดาน


นอกจากนั้นยังพบในนาข้าวสวนผลไม้ ชอบกินผลไม้ ผักและเมล็ดพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ ระยะทางหากิน 100-150 เมตร หนูจี๊ด (Rattus exulans) เป็นหนูที่มีขนาดเล็ก หนัก 27-60 กรัม   ชอบอาศัยในที่แห้งตามบ้านเรือน โดยเฉพาะในห้องครัว ห้องเก็บของตู้ลิ้นชักและยุ้งฉาง ระยะออกหากิน 50 เมตร  และหนูหริ่งบ้าน(Mus musculus) เป็นหนูที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 4 ประเภทนี้ ชอบสำรวจสิ่งใหม่ๆ หนักประมาณ 12 กรัม ออกหากินในเวลากลางคืน ชอบอาศัยในที่มืดในลิ้นชักตู้ หรือท่อเสาที่มีรูปเปิด หากินไกล 10-30 เมตร นอกจากนี้ยังมีหนูพุกใหญ่ ตัวเต็มวัยหนักมากว่า 500 กรัม ชอบทำลายพืชผลที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร เช่น ข้าว ถั่ว หรือข้าวโพด


การป้องกัน โรคฉี่หนู สามารถทำได้โดย


-กำจัดหนูในบริเวณสถานที่อยู่อาศัย


-หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคฉี่หนู รวมทั้งการสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร


-หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน ๆ


-หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่


-ไม่ใช้น้ำ จากแหล่งที่ต้องสงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค


-หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่วางทิ้งไว้ค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด


-เกษตรกร หรือคนทำงานปศุสัตว์ที่ต้องย่ำในน้ำ ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า ให้เรียบร้อย


ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากเดินลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ


หากต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง พื้นดินชื้นแฉะหรือเดินย่ำน้ำย่ำโคลนในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู และมีความห่วงใย สุขภาพประชาชนในเรื่องดังกล่าวจึงได้ผลิตสารคดีให้ความรู้การป้องกันกำจัดหนู ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่http://youtu.be/tBvxwJNuYFc หากมีไข้และสงสัยว่าเป็นโรคควรรีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสเชื้อ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจโรคนี้ซึ่งสามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว


 


 


ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code