ผลิตวัคซีนหวัดวุ่น เชื้อกลายพันธุ์
ผลิตวัคซีนหวัด 09 วุ่น นักวิชาการระบุพบปัญหาหัวเชื้อเป็นจากรัสเซียเริ่มกลายพันธุ์ตั้งแต่ยังไม่ผลิตวัคซีน หวั่นต้านทานเชื้อไม่อยู่ ส่วนวัคซีนเชื้อตายที่สั่งจากต่างประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ แนะ สธ.จับมือ ก.เกษตรฯ ทุ่มงบ ปรับโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ที่ปากช่องเป็นโรงงานผลิตวัคซีนคน ด้าน ผอ.อภ. ชี้เชื้อไวรัสอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางตำแหน่ง ยันเดินหน้าผลิตวัคซีนต่อไป เตรียมนำวัคซีนฯ พ่นจมูกหนูทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 52 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ของการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นในไทย ทราบจาก ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์วิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้หัวเชื้อไวรัสที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่นำมาจากรัสเซียและอยู่ในระหว่างการทดลองนั้น จากการถอดรหัสพันธุกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล พบมีการผ่าเหล่า เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมใน 8 ตำแหน่ง จึงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ไม่มีความเสถียร และเมื่อฉีดพ่นเข้ารูจมูกถูกความร้อนเชื้อก็จะตายทันที เสี่ยงกับการกลายพันธุ์
โดยจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมดังกล่าว หากมีการเปลี่ยนแปลงในจุดที่อ่อนแรง อาจทำให้ไวรัสมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และในการผลิตวัคซีนอาจไม่คงที่และปลอดภัย จึงต้องมีการหารือว่า จะต้องมีการเดินหน้าผลิตวัคซีนต่อไปหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นจะได้มีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เตรียมสำรองหัวเชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นจากประเทศจีนไว้แล้ว แต่ต้องรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการของ อย. อีกครั้ง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาและอุปสรรคของการผลิตวัคซีนของไทย ยังพบเรื่องของไข่ไก่ที่เพาะเชื้อไม่ได้ปริมาณมากเพียงพอ และโรงงานผลิตวัคซีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ว่าจะเลือกโรงงานใดในการต่อยอดทดลองวัคซีน เพราะขณะนี้คาดว่า องค์การอนามัยโลกได้ประเมินโรงงานผลิตวัคซีนในสัตว์ของกรมปศุสัตว์ที่ จ.นครราชสีมา พบว่ามีประสิทธิภาพดีสามารถเปลี่ยนแปลงนำมาเป็นโรงงานผลิตวัคซีนในคนได้ทันทีเพียงใช้ระยะเวลา 3 เดือน และงบประมาณ 80 ล้านบาท ก็สามารถต่อยอดผลิตวัคซีนได้ ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความขัดแย้งตั้งแต่สมัยการระบาดของโรคไข้หวัดนก จึงทำให้ไม่อาจประสานหรือยอมร่วมมือกันได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อยากให้ยุติเรื่องปัญหาความขัดแย้งและสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านระบบสาธารณสุข และยังจะส่งผลให้การผลิตวัคซีนสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น ดีกว่ารอโรงงานใหม่ที่ยังไม่เห็นรูปร่างภายใน 2 ปีนี้
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องเชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นในการทดลองวัคซีนไม่เสถียรนั้น เป็นข้อมูลที่คณะทำงานทราบตั้งแต่ต้นว่ายีนส์ของเชื้อไวรัสอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่กระทบต่อการนำเชื้อมาผลิตเป็นวัคซีน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ใน 5 ตำแหน่งสำคัญ ทั้งเรื่องของอุณหภูมิของเชื้อไวรัสที่จะอยู่ได้ การควบคุมความดุร้าย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนใหม่และนำหัวเชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นจากจีนมาผลิต
โดยตอนนี้ อภ.จะนำวัคซีนที่เก็บจากไข่เพาะเชื้อมาบรรจุในหลอดพ่น และจะนำไปทดสอบความเป็นพิษพ่นจมูกหนูขาว 20 ตัว เพื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยจะดูอาการของหนูขาวว่า ซึมหรือเบื่ออาหารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 วัน ส่วนกระบวนการผลิตล็อตที่ 2 นั้น นักวิทยาศาสตร์ได้สุ่มหยิบไข่จาก 1,500 ฟอง มาตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาน้ำเลี้ยงไข่แดง พบว่า ได้ปริมาณตรงตามที่ต้องการ คือ เกินกว่า 10 ซีซี. ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนแผนการฟักไข่ โดยเพิ่มระยะเวลาให้ยาวขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้การปรับอุณหภูมิไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของกระบวนการวิจัย โดยคาดว่าจะรู้ผลได้ภายในวันที่ 28 ส.ค.นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
Update 26-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่