ผลักดันสภาผู้บริโภคแห่งชาติ คุ้มครองสุขภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ผลักดันสภาผู้บริโภคแห่งชาติ คุ้มครองสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


การบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่มีสารปนเปื้อน ส่งผลต่อสุขภาพทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเสี่ยงก่อเกิดโรคต่างๆ ปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากลได้ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย และร่วมกันรณรงค์ทั่วโลกให้ "เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา"


ถึงเวลาแล้วที่จะต้องใส่ใจกับคุณภาพของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของตัวเอง และเพื่อเป็นการผลักดันกลไกคุ้มครองผู้บริโภคโดยผู้บริโภค ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันจัดการประชุมสภาผู้บริโภคแห่งชาติครั้งที่ 1 หวังให้เป็นกลไกของผู้บริโภคในการติดตามบังคับใช้กฎหมายในมติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค


รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เล่าว่า ในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้บริโภคพบกับปัญหาการโฆษณาสินค้าเกินจริง อาหารที่มีสารปนเปื้อน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารที่ส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อ โดยการประชุมสภาผู้บริโภคแห่งชาติครั้งแรกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ กลุ่มประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดทิศทาง บทบาท และโครงสร้างของสภาผู้บริโภคแห่งชาติ


รศ.ดร.ภญ.จิราพรกล่าวเพิ่มเติมว่า สภาผู้บริโภคแห่งชาติจะเป็นกลไกของผู้บริโภคที่สำคัญในการติดตามบังคับใช้กฎหมาย มติด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และร่วมกันผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. เพื่อให้มีตัวแทนผู้บริโภคในระดับประเทศ การร่วมกำหนดกติกา และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งให้ผู้บริโภคมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค


"การประชุมครั้งนี้มีหลายหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มาขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ครบถ้วนเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้อย่างรู้เท่าทัน" รศ.ดร.ภญ.จิราพรกล่าว


ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการจัดสภาผู้บริโภคแห่งชาติว่า องค์กรผู้บริโภคทั่วผลักดันสภาผู้บริโภคแห่งชาติ คุ้มครองสุขภาพ thaihealthประเทศ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นร่วมกันในการจัดตั้งสภาผู้บริโภคแห่งชาติ โดยมีกรรมการของสภาผู้บริโภคแห่งชาติจำนวน 61 คน ประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนด้านต่างๆ 9 ด้าน กลุ่มผู้บริโภคเชิงประเด็น ตัวแทนสภาผู้บริโภคจังหวัด นักวิชาการ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น


"การผลักดันให้เกิดกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าวนี้ ไม่ได้ทำเพื่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทำเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้บริโภคอาหาร ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงการมีระบบชดเชยเยียวยาที่มีประสิทธิ ภาพและเหมาะสมเมื่อได้รับความเสียหาย" เลขาธิการ มพบ.กล่าวทิ้งท้าย


การประชุมครั้งนี้นับเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับการปกป้อง ทั้งยังส่งผลให้มีสุขภาวะกายและสังคมที่ดีตามมาอีกด้วย.


"ไม่ได้ทำเพื่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทำเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้บริโภคอาหาร ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงการมีระบบชดเชยเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเมื่อได้รับความเสียหาย"

Shares:
QR Code :
QR Code