ผลักดันพื้นที่เรียนรู้ของเยาวชน

ผลักดันพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชน นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็กและส่งเสริมการทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ 


ผลักดันพื้นที่เรียนรู้ของเยาวชน thaihealth


หลายครั้งจากการได้เข้าไปพูดคุยให้คำปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์และท้องไม่พร้อมในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 1663 พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ขอรับคำปรึกษาคือวัยรุ่น วัยกำลังเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย และมักจะมาขอรับคำปรึกษาในช่วงเวลาดึกๆ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เข้านอนแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่า คำถามส่วนใหญ่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่น่าจะได้เรียน เช่น วิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หรือข้อมูลพื้นฐานเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจรักษา รวมไปถึงสิทธิในการรักษา


นี่เฉพาะเรื่องท้องไม่พร้อมกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เยาวชนในบ้านเรา "ขาด" การเติมเต็ม อันเนื่องจากบ้านเรา "ส่งเสริม" เยาวชนในบางเรื่อง เช่น ด้านการเรียน ด้านกีฬา เราจึงเห็นเยาวชนได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการกันเต็มไปหมด แต่สอบตกข้อสอบพิซซ่า (PISA:Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นข้อสอบที่เน้นความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลง


เมื่อเป็นดังนี้ เยาวชนจำนวนมากที่ไม่ได้มีความสามารถในด้านที่รัฐจะส่งเสริมไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก ในขณะเดียวกัน โรงเรียนที่เน้นการส่งเสริมตามนโยบายของรัฐก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของเยาวชนได้ทุกคน เยาวชนจำนวนหนึ่งจึงหาทางออกด้วยการแสดงความสามารถในแบบที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบและเห็นว่าไร้สาระ เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ร่อน ซึ่งก็น่าสนใจว่าเมื่อถามถึงสาเหตุที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ร่อน เยาวชนกลุ่มนี้ตอบว่า "ไม่รู้จะไปไหน ไปนั่งรวมกลุ่มที่ไหนผู้ใหญ่ก็หาว่ามั่วสุม เลยขี่มอเตอร์ไซค์ร่อนไปเรื่อยๆ"


ดังนั้น การมีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่จะให้เยาวชนได้มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน พูดคุยในสิ่งที่พวกเขาสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพราะจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของพวกเขา ทำให้พวกเขามีความสามารถในการใช้ชีวิตในโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกปัจจุบันได้อย่างปกติสุข อย่างเยาวชนที่ชอบขี่มอเตอร์ไซต์ร่อนเมื่อได้คุยกับพวกเขาก็จะค้นพบว่าเยาวชนเหล่านี้มีความสามารถในการซ่อมรถ แต่งรถ ซึ่งความสามารถเหล่านี้หากได้รับการสนับสนุนก็จะเป็นอาชีพของพวกเขาได้ในอนาคต แต่ความสามารถเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการของโรงเรียน หรือผู้ใหญ่


แนวคิดเรื่องการมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนเกิดขึ้นในหลายประเทศ บางประเทศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการจัดการปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น เช่น เนเธอร์แลนด์  บางประเทศใช้เป็นสถานที่ให้เยาวชนที่ไร้บ้านได้เข้ามาใช้บริการที่จำเป็น เช่น ซักผ้า และระหว่างที่รอผ้าก็ได้อ่านหนังสือ ได้ทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วย


สำหรับประเทศไทย พื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนเป็นหนึ่งในเก้ายุทธศาสตร์ของการจัดการปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมและนำร่องใน ๒๐ จังหวัดที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุรสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยคาดหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการดังกล่าว และจำนวนหนึ่งก็ออกมาในรูปแบบ "ลานกีฬา" หรือ การพัฒนาเยาวชนแกนนำผ่านรูปแบบการอบรม ซึ่งก็ยังเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเยาวชนได้ จึงได้มีการทดลองการสร้างพื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนในรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบกิจกรรมตามความสนใจของเยาวชนและเยาวชนจะเป็นผู้เดินเข้ามาใช้บริการ มาทำกิจกรรม ที่พื้นที่การเรียนรู้เอง ทั้งนี้ พื้นที่เรียนรู้ดังกล่าวจะต้องตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเยาวชนแต่ละกลุ่มด้วย


ฉบับหน้าจะมาลงรายละเอียดว่า พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเยาวชนที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเยาวชนนั้นมีลักษณะอย่างไร และเริ่มมีพื้นที่นำร่องแล้วที่ไหนบ้างฉบับหน้าพบกันครับ


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  


ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์

Shares:
QR Code :
QR Code