ผลสำรวจ “แม่เสียใจ” เพราะลูก “หนีเรียน – กินเหล้า – วิวาท”

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดผลสำรวจหัวอกแม่หัวอกเมีย พบสามีติดเหล้า ทุบตี ผีพนัน ชี้สาเหตุแม่ทุกข์ใจที่สุด คือลูกหนีเรียนดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท ด้านเยาวชนก้าวพลาดเปิดใจ สำนึกผิด ทำไปเพราะคึกคะนองผลสุดท้ายคนที่ทุกข์ที่สุดคือแม่ ขณะที่ “ผอ.บ้านกาญฯ” ให้สติแม่เลี้ยงลูกเดี่ยว สร้างกำลังใจให้เข้มแข็งก้าวให้พ้นความทุกข์

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก เครือข่ายละครดีดี๊ดี สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “เสียงสะท้อนหัวอกแม่ หัวอกเมีย” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2556

น.ส.มณี ขุนภักดี หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ “เสียงของแม่ เสียงสะท้อนถึงลูกและสามี” โดยเก็บข้อมูลกลุ่มผู้หญิงทั้งหมด 1,151 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชุมพร อำนาจเจริญ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกทม. ระหว่างวันที่ 20 ก.ค. -2 ส.ค. 2556 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 51.3% อาศัยอยู่กับลูกและสามี 17.8% อยู่กับสามี 17.9% แยกทางกับสามี โดยพฤติกรรมของสามีที่ทำให้รู้สึกเสียใจ คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 25.8%นอกใจ 19.9% ไม่รับผิดชอบครอบครัว 16.9% เล่นการพนัน 15.8% ด่าทอ ทำร้ายจิตใจ 11.7% ทุบตี ทำร้ายร่างกาย 6.7% บังคับมีเพศสัมพันธ์ 3.2%

“เมื่อถามถึงพฤติกรรมของลูกที่ทำให้แม่เสียใจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างระบุว่า 22.7% หนีเรียน 18.9% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 14.9% ทะเลาะวิวาท 14%ติดยาเสพติด 10% เล่นการพนัน 6.3%ลูกไม่ทำงาน/ไม่มีอาชีพ 5.3% ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ส่วนคำพูดของลูกและสามีที่ทำให้รู้สึกเสียใจ พบว่า เกือบครึ่ง หรือ 48.2% ใช้คำว่า “น่ารำคาญ จู้จี้ขี้บ่น” 13.4% “เลิกยุ่งกับชีวิตซะที” 10.4% “ดูเมีย / ดูแม่คนอื่นเขาเสียบ้าง” 9.7% “เงียบไปเลย หุบปากซะ” อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมคลายเครียดเมื่อทุกข์ใจ กลุ่มตัวอย่าง 26.1% จะหาทางออกด้วยการระบายทุกข์กับเพื่อน 16.9% เก็บไว้คนเดียว 15% ฟังวิทยุดูโทรทัศน์/ภาพยนตร์ 12% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

น.ส.มณี กล่าวอีกว่า สิ่งที่กลุ่มผู้หญิงอยากเห็นเพื่อทำให้ครอบครัวดีขึ้นและมีความสุข พบว่า การให้เกียรติกัน 19.3% การรับผิดชอบครอบครัว 15.5% ลูกตั้งใจเรียนไม่เกเร 15.4% การลดละเลิกเหล้า 12.9% การช่วยทำงานบ้าน 12.4% พูดจาไพเราะ 10.3% การไม่นอกใจ 8.9% การไม่ทุบตีทำร้ายร่างกาย 5.3% นอกจากนี้สิ่งที่ผู้หญิงในบทบาทแม่และภรรยาอยากได้รับการสนับสนุน คือ มีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องครอบครัว 31.5% สนับสนุนให้สามีและลูกรับผิดชอบครอบครัว 29.5% มีเวลาดูแลตัวเอง 16.9% 

“ปัญหาซ้ำซ้อนที่กดทับผู้หญิงล้วนมาจากคนใกล้ชิด อีกทั้งสถานการณ์การดื่มก็ยังขยายตัว จากผลสำรวจ พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ภรรยาเสียใจต่อพฤติกรรมการดื่มสุรามากเป็นอันดับหนึ่ง และยังมีพฤติกรรมการนอกใจ ไม่รับผิดชอบครอบครัว ด่าทอ ทุบตี บังคับมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเรามีกฎหมายห้ามข่มขืนภรรยาแต่มีจำนวนน้อยมากที่จะดำเนินคดีกับสามี นอกจากนี้เวลาที่ผู้หญิงเครียด แทบจะน้อยมากที่จะเข้าหาหรือระบายทุกข์กับเพื่อน จึงสะท้อนว่าผู้หญิงถูกปล่อยให้อยู่เพียงลำพังเมื่อเกิดปัญหา ไม่มีพื้นที่ และสังคมไม่ได้รับฟัง หากปล่อยไว้ระยะยาวจะนำมาสู่ปัญหา” ” น.ส.มณี กล่าว

ดังนั้นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกันคือ เพิ่มพื้นที่ให้ผู้หญิงได้พูดคุย เพิ่มบทบาทผู้หญิงเพื่อได้ระบายปัญหา รณรงค์สร้างความเข้าใจฐานความคิดชายเป็นใหญ่ กระตุ้นให้เพศชายเข้าใจให้เกียรติ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ครอบครัว ชุมชน สังคม ต้องช่วยกันลดปัจจัยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในครอบครัว

ด้านนายเอ (นามสมมุติ) เยาวชนชายจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในเยาวชนที่ก้าวพลาดในชีวิต กล่าวว่า ตนทำเรื่องผิดพลาดสำคัญในชีวิตด้วยความคึกคะนอง นั้นคือ ยิงคนตาย ขณะนี้ถูกคุมประพฤติอยู่กว่า 2 ปีแล้ว วันนี้เมื่อกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้ทำไป รู้สึกเสียใจ ว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ตนเองควรจะมีความคิดให้รอบคอบก่อนที่จะทำเรื่องอย่างนั้น เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่ตามมาคือเสียอนาคต ผลกระทบตกอยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะแม่

“แม่ผมเสียใจมาก แต่แม่ก็เป็นกำลังใจให้ผมตลอดมา แม่บอกว่า อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไป ไม่เคยซ้ำเติมผม ให้ผมอยู่กับปัจจุบันทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมรู้ว่าแม่ต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น แต่แม่ก็มาหาผมทุกวันอาทิตย์ไม่เคยขาดแม้สักวันเดียว เพราะความคึกคะนองของผมแต่ผลมันตกอยู่บนความทุกข์ของแม่ อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงเยาวชนว่า ควรจะเรียนหนังสือให้เต็มที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ อย่าไปนอกกรอบ เพราะพ่อแม่ของเราเหนื่อยมามาก หากเราเดินทางผิดท่านก็ต้องเสียใจ และรับภาระเพิ่ม ขอฝากถึงพ่อแม่ทุกคนด้วยเช่นกันว่า ถ้าหากลูกๆ เดินทางผิดพลาด ไม่ควรซ้ำเติม แต่ควรหันมาแนะนำชี้ทางให้ลูกเดินไปในทางที่ถูก” นายเอ กล่าว

ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า คนเป็นพ่อแม่ ต้องท่องจำให้ขึ้นใจว่า เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน เพราะฉะนั้นต้องอบรมสั่งสอนเขา ตนในฐานะที่เป็นแม่และต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ไม่มีใครอยู่อย่างยืนยาว มีแต่เดินผ่านมาแล้วจากไป แต่คนที่เหลืออยู่จะต้องมีชีวิตต่อไป ในฐานะแม่นั้นคือ ลูก ซึ่งแม่จะต้องมีความอดทน เข้มแข็งให้เพียงพอในการทำหน้าที่ไม่ว่าจะในฐานะพ่อหรือแม่ให้ดีที่สุด 

“ขอฝากกำลังใจให้ผู้หญิงที่เป็นแม่หากอยู่ในภาวะท้อแท้ ต้องสูญเสียสามีไม่ว่าจะเป็นเพราะการหย่าร้าง หรือ สูญเสียชีวิต ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเรายาว แต่มันแค่แวะมาทักทาย แล้วก็จากไป ขอให้อย่าจมกับความทุกข์โศก ให้ผ่านพ้นก้าวข้ามความทุกข์ออกมาให้ได้ เพราะหากทำได้นั่นหมายถึงเราจะเป็นคนใหม่ที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งความเข้มแข็งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเดินทางบนถนนชีวิต” นางทิชา กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code