ผลสำรวจพบเด็กประถม 66 % ไขมันในเลือดสูง 20% เป็นโรคอ้วน
ผลสำรวจพบเด็กประถม 66 % ไขมันในเลือดสูง 20% เป็นโรคอ้วน เหตุกินแต่น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ อยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ขาดการออกกำลังกาย ชี้ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้วอย่างการบริโภค
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. รศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ภัยคุกคามเด็กไทย เสี่ยงภัยโรคหัวใจในอนาคต” ว่า จากการสำรวจของโครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยดูดี มีพลานามัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า นักเรียนในเขต กทม.มีสัดส่วนโรคอ้วนมากที่สุด โดยปี 2555 ผลการสำรวจในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐ 4 โรงเรียน ป.1-ป.6 มีอัตราการเกิดโรคอ้วน 21 % ไขมันในเลือด 66 % ใกล้เคียงกับการสำรวจในระยะแรกเมื่อปี 2547-2549 ที่พบว่า เด็กไทยเกิดโรคอ้วน 20 % มีไขมันในเลือดสูง 78% และ 1 ใน 3 ของเด็กอ้วน มีปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สะสมตั้งแต่วัยเด็ก หากเด็กยังคงความอ้วนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต
“ปัญหาโรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน รวมทั้งขนมกรุบกรอบ บริโภคผักผลไม้น้อย ขาดวินัยในการบริโภคอาหารเป็นเวลา ใช้เวลาในการดูทีวีและเล่นเกมมากกว่าการวิ่งเล่นออกกำลังกาย จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกันโดยวางแผนตั้งแต่วัยเด็ก” รศ.พญ.ชุติมา กล่าว
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ยิ่งในปัจจุบันนี้ที่มีสิ่งเร้าอยู่รอบตัวเด็กมาก การสร้างนิสัยและความรู้เท่าทันให้เด็กได้เลือกหรือตัดสินใจเองอย่างมีเหตุมีผลต่อสุขภาพที่ดีของตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมของผู้บริหารทุกระดับในการกำหนดนโยบาย โดยครู และผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้และจัดหาอาหารที่เหมาะสม ควบคุมสิ่งแวดล้อมในและรอบโรงเรียนให้ปลอดจากอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพ และผู้ใหญ่ควรเป็นตัวแบบของการบริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์