ผนึก อปท. เดินหน้าชุมชนปลอดบุหรี่ทั่วไทย ลดนักสูบหน้าใหม่-คุ้มครองคนไม่สูบ-ดันเลิกบุหรี่
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. เผยบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละกว่า 8 ล้านคน ภาคใต้ไทยยังครองแชมป์สิงห์อมควัน เร่งเดินหน้า“ท้องถิ่นรวมพลัง ต้านภัยบุหรี่” สานพลัง อปท.ทั่วประเทศ-ภาคีเครือข่าย สานต่อ 3 ยุทธศาสตร์ “สกัดนักสูบหน้าใหม่-คุ้มครองสุขภาพคนไม่สูบ-ช่วยเลิกบุหรี่ ชู “สันนาเม็ง-มหาสารคาม” โมเดลชุมชนปลอดบุหรี่ เชื่อมเครือข่าย-บังคับใช้กฎหมายจริงจัง หนุนเลิกบุหรี่ ลดป่วย NCDs เด็ก-เยาวชนร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาพดี
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 2568 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (สวร.) จัดเวที “ท้องถิ่นขยับ ประเทศปรับเปลี่ยน: ขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดภัยจากควันบุหรี่ (ไฟฟ้า)” ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ ผ่านพื้นที่นำร่อง อปท.ปลอดบุหรี่ เสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อรับมือปัญหาการสูบบุหรี่และป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงรุนแรง แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 8 ล้านคน โดยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 7 ล้านคน และจากควันบุหรี่มือสองอีกประมาณ 1.2 ล้านคน บุหรี่เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า สำหรับไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 พบคนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 9.8 ล้านคน คิดเป็น 16.5% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจาก 17.4% ในปี 2564 ผู้ชายสูบบุหรี่สูงถึง 9.5 ล้านคน หรือ 33.5% ของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้หญิงสูบบุหรี่เพียง 0.3 ล้านคน หรือ 1% โดยผู้สูบบุหรี่อาศัยในเขตเทศบาล 14.6% และอาศัยนอกเขตเทศบาล 18.1% ทั้งนี้ ภาคใต้มีการสูบบุหรี่มากที่สุด 22.2% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17.92% ขณะที่ภาคกลางน้อยที่สุดคือ 14.2%
“สสส. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีส่วนร่วมในการควบคุมยาสูบ โดยสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน การดูแลสุขภาพในชุมชน การควบคุมยาสูบ สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน และได้สนับสนุนมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินงานขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 3 เรื่องหลัก 1.ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ 2.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ 3.ช่วยคนสูบบุหรี่ให้เลิก ขณะนี้มี อปท. ที่ดำเนินงานขับเคลื่อน อปท.ปลอดบุหรี่แล้ว 2,325 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า การลดอัตราการสูบบุหรี่ให้สำเร็จ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนทางนโยบายควบคุมยาสูบต่อเนื่อง ควบคู่กับการเฝ้าระวังและศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการขยายตัวของนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เครือข่ายนักรณรงค์ในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. รับทราบสถานการณ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งมิติด้านการพัฒนากำลังคน การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่
นางสวาท โกชุม นายกเทศมนตรีตำบลสันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จุดแข็งของเทศบาลตำบลสันนาเม็งคือ การทำงานเชิงรุกในการเชื่อมประสานเครือข่าย ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร้านค้า หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการทำงานกับ รพ.สต. ในพื้นที่ ที่ทำงานเรื่องบุหรี่ชัดเจน “สันนาเม็ง รวมใจ ต้านภัยควันบุหรี่” มีบุคลากรประจำที่คลินิกเลิกบุหรี่ มีนวัตกรรมสมุนไพรเลิกบุหรี่ ในอนาคตวางเป้าหมายลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ให้เชื่อมร้อยกับการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในพื้นที่ สร้างมาตรการร่วมกันว่า ผู้ป่วย NCDs ต้องไม่สูบบุหรี่ หรือถ้าสูบก็ขอให้เลิกให้ได้ เพื่อสุขภาพของประชาชนที่ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีลานกีฬาต้านยาเสพติดที่ประชาชนทุกช่วงวัยเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ รณรงค์ติดสติ๊กเกอร์พื้นที่ปลอดบุหรี่ สร้างความเข้าใจและชวนคนในชุมชน เฝ้าระวัง พร้อมมีเทศกิจคอยสอดส่องและสำรวจภายในพื้นที่ ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม อ.เมือง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เทศบาลเมืองมหาสารคามขับเคลื่อนประเด็นบุหรี่ในพื้นที่ ต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยพบกลุ่มของเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ค่อนข้างสูงถึง 20% ของพื้นที่ เทศบาลเมืองมหาสารคาม และชุมชน จึงร่วมกันขับเคลื่อนลด ละ เลิกการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับ อปท. ทั่วประเทศ ภายใต้การเสริมศักยภาพของ สสส. ประกาศให้ “มหาสารคามเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดบุหรี่” ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลดลง ผ่านการดำเนินงานสำคัญ 1.รณรงค์ให้ความรู้ และเชิญชวนทุกพื้นที่วางแผนการทำงานควบคุมบุหรี่ โดยใช้ข้อมูลที่พื้นที่เก็บผ่านเครื่องมือ TCNAP และประยุกต์ใช้ข้อมูล RECAP พัฒนาชุดกิจกรรมที่สื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม 2.ขึ้นภาษีบุหรี่และกฎข้อบังคับต่างๆ ทั้งบุหรี่มวนที่เพิ่มราคาสูงขึ้น และบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามจำหน่ายและมีไว้ในครอบครอง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย 3.บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทุกคนในชุมชนช่วยกันสอดส่อง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเป็นโครงข่ายทั่วถึงกันทุกภาคส่วนในชุมชน